นนทบุรี 18 พ.ค.-รองอธิบดีกรมการค้าภายในเอาจริงจับพ่อค้าชาวเวียดนามในตลาดสดโกงเครื่องชั่งน้ำหนักสินค้าทุเรียนเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคส่งดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ระบุในช่วงปี 2565 – ปัจจุบัน มีผู้กระทำความผิดรวมทั้งสิ้น 585 ราย พร้อมดึงสายตรวจอาสา DIT ร่วมตรวจสอบเครื่องชั่งแบบปูพรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวาน(17 พ.ค.) นายจรัล แสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มเครื่องชั่งขนาดเล็ก กองชั่งตวงวัด พร้อมด้วยได้นำเจ้าหน้าที่นายตรวจชั่งตวงวัด ได้ทำการเข้าตรวจสอบรถเร่จำหน่ายทุเรียน ในย่านบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พบว่าเครื่องหมายคำรับรอง(ตราครุฑ) ที่ติดอยู่กับเครื่องชั่งสปริงของพ่อค้าจำหน่ายทุเรียนรายหนึ่งถูกทำลาย เมื่อนายตรวจชั่งตวงวัดได้นำตุ้มน้ำหนักมาตรฐาน 4 กิโลกรัมไปทดสอบเครื่องชั่งดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องชั่งแสดงค่าน้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม มากกว่าความเป็นจริง 0.5 กิโลกรัม จากการตรวจสอบเครื่องชั่งพบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงสปริงเครื่องชั่งเพื่อให้แสดงน้ำหนักมากกว่าความเป็นจริง นายตรวจชั่งตวงวัดจึงได้จับกุมเจ้าของเครื่องชั่งดังกล่าว ซึ่งเป็นชาวพ่อค้าชาวเวียดนาม พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหาใช้เครื่องชั่งในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้อื่น กระทำการด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้ความเที่ยงของเครื่องชั่งผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ตามมาตรา 26 เป็นผู้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบทางการค้า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 25 วรรค1,26,70,75/1,76(2),80(3) และ มาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 280,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลาง ส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางใหญ่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปโดยที่ปีนี้สินค้าผลไม้ รวมทั้งทุเรียนมีราคาที่ดี ทุเรียน หมอนทอง ราคากิโลกรัมละประมาณ 150 บาท ถ้าเครื่องชั่งแสดงค่ามากกว่าความเป็นจริงไป 0.5 กิโลกรัม ก็เท่ากับว่าผู้ซื้อถูกโกงไป 75 บาท นี่แค่ครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าทำแบบนี้หลายครั้ง หลายวันติดต่อกัน มูลค่าความเสียหายก็ยิ่งสูงการกระทำในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ซื้อหรือผู้บริโภค กรมการค้าภายใน จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ซึ่งผู้กระทำผิดในกรณีนี้เป็นรถเร่ที่ตั้งจุดจำหน่ายย่านบางใหญ่ โดยกรมฯ ก็ได้ขอความร่วมมือผู้ดูแลตลาด และสายตรวจอาสา DIT ที่ประจำอยู่ตามตลาดให้ช่วยสอดส่องดูแลและตรวจสอบเครื่องชั่งในตลาดอย่างเข้มงวด ถ้าพบว่าผู้ใดมีเจตนาโกงเครื่องชั่ง ก็ขอให้ยกเลิกสัญญาเช่าหรือไม่ยินยอมให้กลับไปขายสินค้าในตลาดได้อีก
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ซื้อสินค้าในตลาด ขอแนะนำให้ สังเกตเครื่องชั่งว่าเริ่มที่ 0 (ศูนย์) และเครื่องชั่งนั้นมีสติ๊กเกอร์การตรวจสอบประจำปีของกรมการค้าภายในหรือไม่ ทั้งนี้ในตลาดที่มีเครื่องชั่งกลางสามารถนำสินค้าที่ตนซื้อไปชั่งที่เครื่องชั่งกลางของตลาดเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของน้ำหนักสินค้าได้ หากพบว่าน้ำหนักไม่ครบตามที่ตกลงซื้อสามารถแจ้งมาที่สายด่วน 1569 หรือ line @ MR.DIT
นายชาตรี อารีวงศ์ ผู้อำนวยการกองชั่งตวงวัด ให้ข้อมูลว่า ในช่วง ปี 2565 – ปัจจุบัน มีสถิติการจับกุมตาม พ.ร.บ. มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมดังนี้
ในช่วงปี 2565 – ปัจจุบัน มีผู้กระทำความผิดรวมทั้งสิ้น 585 ราย โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 22 ราย เปรียบเทียบปรับรวมทั้งสิ้น 541 ราย และ ยึด/ทำลาย/ผูกบัตรรวมทั้งสิ้น 22 ราย พบว่าผู้กระทำความผิดในเรื่องเครื่องชั่งไม่เที่ยงตรงจำนวน 20 ราย ดัดแปลงเครื่องชั่งจำนวน 13 ราย เครื่องชั่งเสื่อมสภาพจำนวน 15 ราย เครื่องชั่งที่ไม่ตรวจรับรองจำนวน 438 ราย และใช้เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์แป้งไม่ตรงจำนวน 1 ราย
นอกจากนี้ การดำเนินคดีเฉพาะตลาดสดในช่วงปี 2565 – ปัจจุบัน มีผู้กระทำความผิดรวมทั้งสิ้น 14 ราย โดยเปรียบเทียบปรับรวมทั้งสิ้น 4 ราย และ ยึด ทำลาย ผูกบัตรรวมทั้งสิ้น 10 ราย พบว่าผู้กระทำความผิดเครื่องชั่งเสื่อมสภาพจำนวน 9 ราย และใช้เครื่องชั่งที่ไม่ตรวจรับรองจำนวน 5 ราย
กรมการค้าภายใน ขอเรียนชี้แจงต่อประชาชนให้ทราบว่า ในเรื่องปริมาณและราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน กรมการค้าภายในจะดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ .-สำนักข่าวไทย