กรุงเทพฯ 16 พ.ค.- “อัจฉริยะ” นำสมาคมหมูและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจากทุกภูมิภาคเข้าร้อง DSI ให้รับคดีปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเป็นคดีพิเศษ เผยแจ้งเอาผิดเจ้าหน้าที่ทั้งที่ด่านนำเข้าและผู้บริหารส่วนกลางกว่า 50 คนฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบและทุจริต ย้ำทำเป็นขบวนการใหญ่ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจากทุกภูมิภาคเข้าร้องทุกข์ต่อพ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้รับคดีการปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเป็นคดีพิเศษ โดยระบุว่า ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศเดือดร้อนจากการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเป็นอย่างมาก โดยหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามีความเสี่ยงที่จะนำโรคระบาดสัตว์เข้ามาสู่ประเทศไทยและทำลายโครงสร้างราคาที่เกษตรกรจะจำหน่ายได้เนื่องจากราคาต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงในประเทศ
ทั้งนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นตัวแทนยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นท้องที่ของด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังที่มีตู้เย็นคอนเทนเนอร์บรรจุหมูเถื่อนตกค้าง 161 ตู้น้ำหนักรวม 4.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 225 ล้านบาท
นอกจากนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยังนำข้อมูลตัวเลขการนำเข้าปลาแช่แข็งปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยเมื่อตรวจสอบในปี 2562 2563 และ 2564 ปริมาณนำเข้าใกล้เคียงกัน แต่ในปี 2565 พบว่า การนำเข้าปลาแช่แข็งที่เพิ่มขึ้นเป็นรวม 77,393 ล้านบาท เปรียบเทียบแล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 30% สวนทางกับข้อมูลของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่ระบุว่า การนำเข้าปลาแช่แข็งในปี 2565 ลดลงกว่าปีก่อนหน้า 2% นอกจากนี้ยังพบว่า การนำเข้าปลาแช่แข็งตามข้อมูลการผ่านด่านศุลกากร พบว่า ปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจากประเทศผู้ส่งออกเนื้อหมูหลักของโลกเช่น จากบราซิลเพิ่มขึ้น 14 เท่า สเปน 8 เท่า ฝรั่งเศส 5 เท่า จึงสงสัยว่า เป็นหมูแช่แข็ง (HS Code 0203) แต่แสดงพิกัดบันทึกว่าเป็นปลาแช่แข็ง (HS Code 0303)
ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรกล่าวว่า จากการที่สมาคมและกลุ่มผู้เลี้ยงหมูรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนเป็นผลให้ได้พบกับผู้บริหารกรมศุลกากร ทางกรมศุลกากรไม่ได้ปฏิเสธข้อมูลปริมาณการนำเข้าปลาแช่แข็งที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวแต่ระบุว่า จะปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้าทางเรือ จากปกติการตรวจปล่อยสินค้าจะมีกลุ่มใบขนสินค้าเป็น 2 กลุ่มคือ ให้เปิดตรวจ (Red Line) หรือให้ยกเว้นการตรวจ (Green Line) โดยจะจัดกลุ่มอาหารแช่แข็ง(frozen food) ที่จะผ่านพิธีศุลกากร เข้าอยู่ในกลุ่ม Red Line หรือต้องเปิดตรวจทั้งหมด จึงคาดว่า หมูเถื่อนทะลักเข้าไทยได้เป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพราะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Green Line นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวอ้างของผู้บริหารบริษัทให้เช่าตู้เย็นคอนเทนเนอร์แห่งหนึ่งที่มีตู้ตกค้างว่า มีเนื้อหมูที่ติดโรคและสำแดงเอกสารเท็จผ่านระบบคอมพิวเตอร์ผ่านท่าเรือแหลมฉบังและอื่นๆ
นายอัจฉริยะกล่าวว่า แม้กรมศุลกากรจะเข้าร้องต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางให้เอาผิดผู้นำเข้าหมูเถื่อน แต่ไม่มั่นใจว่า จะนำหลักฐานไปมอบให้ตำรวจทั้งหมด เนื่องจากขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเป็นขบวนการใหญ่อาจโยงใยกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องการร้อง DSI ให้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อให้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยต้นน้ำ DSI มีอำนาจสอบสวนถึงต่างประเทศต้นทางหมูเถื่อน ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า กลางน้ำ สามารถตรวจสอบการทุจริตแก้ไขข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งระบบ Green Line กับ Manifest หรือรายการสินค้าที่บริษัทเรือในต่างประเทศต้องออกอย่างเข้มงวดและถูกต้อง ส่วนปลายน้ำ DSI มีกองภาษีที่จะตรวจสอบการเสียภาษีและเลี่ยงภาษีได้
สำหรับวันนี้ร้องให้ DSI เอาผิดทั้งเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรจนถึงผู้บริหารส่วนกลาง ทั้งฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริต รวมถึงเอาผิดชิปปิ้งและบริษัทผู้นำเข้าที่สำแดงเท็จรวมกว่า 50 คน
ล่าสุดราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 70-79 บาทต่อกิโลกรัมตามแต่ละภูมิภาค แต่จากการประชุมเพื่อคาดการณ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ของคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ประชุมพบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไตรมาสที่ 2 ปี 2566 อยู่ที่ 96.52 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้เลี้ยงยังขาดทุน แต่ค่าเฉลี่ยต้นทุนไตรมาสที่ 2 ลดลงจากค่าเฉลี่ยไตรมาส 1 ปรับปรุงที่ 100.99 บาทต่อกิโลกรัม เป็นผลมาจากต้นทุนลูกสุกรพันธุ์ปรับตัวลงตามราคาสุกรขุนที่มีราคาลดลงกว่า 30% จากราคาต้นทุนของไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และไตรมาส 1 ปี 2566
นายสมพร กมลพรสิน อนุกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า การคาดการณ์ต่างๆ ที่คณะอนุกรรมการร่วมทำงานแต่ละไตรมาส เป็นเพียงแค่ต้นทุน แต่ราคาตลาดที่ผ่านมาไม่สะท้อนต้นทุนแต่ประการใดเพราะปัจจุบันราคาตลาดสุกรขุนต่ำกว่าต้นทุนกว่า 30% โดยราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มยังคงได้รับแรงกดดันจาก Supply ส่วนเกินในตลาด ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังไม่มีทางท่าทีที่จะอ่อนตัวลง.-สำนักข่าวไทย