เกาหลี 4 พ.ค. – “อาคม” ชี้สภา ADB มองเศรษฐกิจเอเชียปี 66 จะชะลอตัวลง เหตุปัจจัยโลกกระทบต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยอมรับไทยใช้งบหลังโควิดไปมาก กระทบงบพัฒนาอาจลดลง เตรียมแผนขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการที่ไทยร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ครั้งที่ 56 ได้หารือกับที่ประชุมถึงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะชะลอตัวช้าลงจากปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.8% ปี 2567 จะเป็น 3% จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนในเอเชียคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.4-4.5%
สำหรับไทยอาจจะสวนทางกับกระแสโลก เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอยู่ประมาณ 3.6% ส่วนประเด็นที่อาเซียนและ ADB เห็นพ้องต้องกันคือ หลังโควิด-19 ทุกประเทศจะเผชิญกับปัญหาการใช้จ่ายเพื่อรักษาเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีภาระมากขึ้นในเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหาหนทางร่วมกันที่จะเข้ามาช่วยประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนั้นต้องเดินหน้าแก้เรื่องของความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเป็นปัจจัยผลกระทบเพิ่มขึ้นคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาพลังงาน เศรษฐกิจที่ร้อนแรงและเงินเฟ้อที่สูงของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนนโยบายอัตราดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นความท้าทายของทั่วโลก รวมถึงเอเชียด้วย
สำหรับประเทศไทย การแก้ปัญหาเงินเฟ้อจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เพราะไทยปัญหาเงินเฟ้อเกิดจากราคาพลังงานที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเรื่องราคาน้ำมันดีเซล กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ได้ลดภาษีน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าบริโภคอุปโภคชะลอตัวลง ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อของไทยขณะนี้อยู่ที่ 2.8 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ถือว่าเป็นการช่วยภาครัฐ แต่อีกด้านจะเป็นต้นทุนของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป
นายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงเสถียรภาพของสถาบันการเงินที่มีผลจากธนาคารจากสหรัฐอเมริกาที่ปิดตัวลงไปหลายธนาคาร ซึ่งมีผลกระทบต่อในประเทศที่พัฒนาในเอเชีย ส่วนไทยไม่มีผลกระทบ เพราะไม่ได้มีธุรกรรมกับธนาคารที่ถูกปิดในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเคยประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินมาก่อนในปี 2540 ยืนยันว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการคุมเข้มและมีเงินสำรอง ระดับหนี้เสียยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จึงขอให้มั่นใจได้ว่าเสถียรภาพทางการเงินของไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการล้มละลายของการปิดสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโร มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับไทยแน่นอน
นายอาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศประสบปัญหางบประมาณ ไทยเองได้ใช้จ่ายงบประมาณไปจำนวนมาก ดังนั้น หลายประเทศต้องการความช่วยเหลือจากธนาคาร ADB ซึ่งไทยเองมีบางโครงการต้องกู้เพื่อผ่องถ่ายภาระงบประมาณแผ่นดินให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องของการทำ PPP ในโครงการต่างๆ
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ออกพันธบัตรหรือมีการกู้เงินภายในประเทศ ในอนาคตจะมีการกู้ต่างประเทศเพื่อดูในเรื่องอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งจะใช้วิธีออกพันธบัตร ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย ก็มีการพูดถึงเรื่องของการออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนในการพัฒนาโครงการสีเขียว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ประเทศต่างๆ จะขาดเงินทุน จึงเป็นประเด็นที่จะมีทางเลือกในการหาแหล่งเงินอย่างไร
ส่วนอีกเรื่องในที่ประชุมให้ความสำคัญคือ การเปิดให้มีการโอนเงินข้ามแดน หรือเรียกว่า cross border payments ที่ต้องการให้เกิดการจ่ายโอนเงินข้ามแดน ซึ่งไทยได้ทำกับสิงคโปร์ เรื่องพร้อมเพย์กับเพย์นาว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้ใช้ได้ในกลุ่มประเทศอาเซียน และโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินกับบุคคลธรรมดา ซึ่งจะมีการพัฒนาในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเชื่อมโยงข้อมูลของธนาคารแต่ละประเทศ และหามาตราการรองรับเรื่องของไซเบอร์ ซีคิวริตี้ คาดว่าน่าจะ 3 ปี น่าจะสามารถทำให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น
นายอาคม ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปมาก ดังนั้น เงินพัฒนาจะลดน้อยลงไป แต่จะสามารถเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่จะเข้ามาช่วย
สิ่งที่ต้องการคือให้มีพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนา การแก้ปัญหาวิกฤติและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ของกระทรวงการคลังได้สร้างกรอบความยั่งยืนเอาไว้ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องวิกฤติใดๆ จะมีพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์งบประมาณในกรณีฉุกเฉินหรือกรณีที่มีความจำเป็นของการพัฒนา นั่นคือการขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไป 70% จากเดิม 60% แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ทั้งหมดใช้เท่าที่จำเป็น ดังนั้น ในแง่ของนโยบายการคลังต้องเพิ่มพื้นที่รองรับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากประเมินในเวลานี้ในเศรษฐกิจปีนี้การท่องเที่ยวดีเกินคาด การส่งออกได้รับผลกระทบบ้าง สำหรับการบริโภคภายในประเทศหลังผ่านพ้นโควิด-19 คนเข้าสู่ระบบการทำงานมากขึ้น จึงเชื่อว่าในปี 2566 ไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้ง สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือความต่อเนื่องของการพัฒนา
เช่นเดียวกับที่ ADB ได้ชี้ว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจของเอเชียฟื้นตัวใน 3 ประเด็นคือ 1.ทำให้เศรษฐกิจเราเติบโตบนพื้นฐานที่แท้จริง ซึ่งเราต้องใช้ประโยชน์การท่องเที่ยว วางพื้นฐานเรื่องการพัฒนากลุ่ม EEC ให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน
2.การเชื่อมต่อ เนื่องจากช่วงโควิด-19 ขาดการเชื่อมต่อ ประชาชนถูกห้ามออกนอกประเทศ การทำธุรกรรม ขนส่งชะงัก ดังนั้น จะต้อง re-connect การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
3.การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศที่ยากจน ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงเศรษฐกิจ BCG การสร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร ลดภาระของรัฐบาลด้านการเกษตร ด้วยการประกันภัยพืชผล ประกันรายได้ ซึ่งได้เริ่มทำในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ทั้ง ธ.ก.ส. และเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งได้ให้เอ็กซิมแบงก์นำพาผู้ประกอบการได้ออกนอกประเทศ เพื่อไปลงทุนต่างประเทศ
นายอาคม มองว่าภารกิจของเอ็กซิมแบงก์พาคนไทยออกนอกประเทศเพื่อหารายได้เข้าประเทศ ซึ่งมีหลายโครงการที่ภาคเอกชนไทยสนใจลงทุน เพื่อนำเงินเงินกลับเข้าในประเทศ เพราะในบางช่วงเมื่อค่าเงินบาทแข็งเราต้องการให้เงินลงทุนไหลออกเพื่อให้เกิดเงินบาทอ่อนตัวลง ที่ผ่านมาเอ็กซิมแบงก์จะเข้าไปลงทุนเรื่องของพลังงานสะอาดในต่างประเทศ ทั้งในเวียดนาม ญี่ปุ่น ซึ่งการมาเกาหลีครั้งนี้เพื่อมาสำรวจและติดต่อ เพื่อส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างไทยกับเกาหลีในอนาคต.-สำนักข่าวไทย