กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – เอเซีย พลัส กรุ๊ป ประเมิน Fund Flow ยังไม่ไหลกลับเข้าไทยปีนี้ หนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะยังสูง ประเมินมาตรการ Easy e-Receipt และ Digital Wallet หนุนบริโภคภาคเอกชน ชี้ SET INDEX มีความผันผวน เพิ่มความเสี่ยงสำหรับการลงทุนระยะสั้น แนะนำเน้นสะสมหุ้นคุณภาพดีจ่ายปันผลได้ต่อเนื่อง เพื่อการลงทุนระยะยาว
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด และประธานกรรมการ บริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่าปี 2567 เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง รวมถึงเศรษฐกิจไทย บรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศยอมรับว่าการลงทนในต่างประเทศมีความน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากมีนโยบายชัดเจนกว่า อาทิ มาเลเซียที่มีนโยบายด้าน EV ชัดเจน , เวียดนาม ที่มีการสร้างสนามบินแห่งใหม่สามารถรองรับผู้โดยสาร 100 ล้านคนต่อปี ซึ่งกลายเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลไทยที่จะต้องดำเนนินโยบายมาตรการต่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ขณะที่ผลประชุมเฟด ที่ยังไม่รู้จะลดดอกเบี้ยลงเมื่อไร นักลงทุนคาดการณ์เป็นบวกมากไป ที่ประเมินว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงช่วงกลางปี แต่ไม่เป็นไปตามคาด ดังนั้นการเห็น sell on fact เป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ประเมินว่า Fund Flow ไม่น่าจะไหลออกไปมากกว่านี้ เพราะส่วนใหญ่ไหลออกไปจนเกือบหมดแล้ว และ cut loss กันเยอะ และยังไม่เห็นแววจะไหลกลับเข้ามา เนื่องจาก GDP Growth ต่ำ ปัญหาในประเทศทะเลาะกันเอง ปัญหาการเมือง ดังนั้น คำแนะนำการลงทุน คือควรกระจายการลงทุนไปทั่วโลก”
ส่วนภาพรวม ปี 2567 กลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส ได้กำหนดกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนองค์กรในระยะ 3 ปี เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานในองค์กรดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อสนับสนุนให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะยาว เน้นกลยุทธ์ Diversification ที่ทำต่อเนื่องมาหลายปี ให้ความสำคัญการกระจายรายได้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นตัวแปรที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากผลดำเนินงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มีความสมดุลและทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ยังคงวางเป้าหมายในการเติบโตอยู่ที่ double-digit ทั้งในแง่รายได้และกำไร
ทั้งใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษา (บจก.ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส),ธุรกิจด้านการลงทุน (บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์) วางกลยุทธ์ Increase Investment Capability ,ธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.เอเซีย พลัส) ชูธุรกิจ Wealth Management เป็นหัวหอกในการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว, ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน (บลจ.แอสเซท พลัส) วางกลยุทธ์มุ่งเน้นการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างจากตลาดโดยรวมในกองทุนที่มีความหลากหลายในแต่ละประเทศ และในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนที่มีการลงทุนในตราสารทุนประเทศญี่ปุ่น, กองทุน ASP-SME ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นและติดอยู่กลุ่มชั้นนำของอุตสาหกรรม, กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทคาร์บอนเครดิต อย่างเช่น ASP-GCC-UI ที่เน้นการลงทุนในสินเชื่อนอกตลาดที่คุณภาพดี
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกขณะนี้มองว่า Resession คลายตัว กลายเป็น Soft landing ขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้น หลายสำนักประเมินการเติบโตค่าเฉลี่ยนอยูที่ประมาณ 3.2% มุมมองปัจจัยพื้นฐาน ถือว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างดี กล่าวคือ กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2567 ฟื้นตัวต่อเนื่องโดยประเมิน EPS Growth ที่ราว 12% โดยที่บริษัทใน SET50 มากกว่าครึ่ง สามารถทำกำไรได้สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว ในมุมของ Valuation พบว่าค่า PER ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่บริเวณ 14 เท่า มีค่า PBV ที่ 1.34 เท่าซึ่งถือว่าอยู่ระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่หากพิจารณาระดับ Market Earning Yield Gap (ใช้กำไรคาดการณ์ปี 2567) อยู่ที่ 4% ) ถือเป็น Valuation ที่ถูก และเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว
นอกจากนี้ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายถือว่าสิ้นสุดวัฎจักรขาขึ้นแล้ว และอยู่ในช่วงที่รอเวลาปรับลดลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ยิ่งจะทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายตัวสูงขึ้นเพิ่มความน่าสนใจขึ้นตามลำดับ ขณะที่หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจ มีโอกาสฟื้นตัวราว 3.5 -4% แม้จะมีความล่าช้าของโครงการภาครัฐฯ อาทิ DIGITAL WALLET อย่างไรก็ตามภาพระยะยาว อาจเป็นแรงผลักดันผ่านนโยบายการคลัง แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่น พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เข้มข้นขึ้น
อย่างไรก็ตาม งบประมาณภาครัฐที่ยังอยู่ในสภาฯ คาดว่าจะใช้ได้ช่วง พ.ค.- ก.ย. ซึ่งระยะเวลา 5 เดือนอาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ดังนั้น จึงต้องต้องไปกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน แต่ด้วยหนี่ครัวเรือนและหนี้สาณารณยังอยู่ในระดับสูง รัฐอาจต้องมีมาตรการอื่นมาช่วย ซึ่งขณะนี้มี รัฐจึงต้องมีมาตรการอื่นมาช่วย ที่ขณะนี้มีมาตรการ Easy e-Receipt ส่วนมาตรการ Digital Wallet ยังต้องรอดูความชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นไปได้ยากในระยะสั้น ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเพราะมูลค่าการซื้อขายที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กล่าวคือ มูลค่าการซื้อขายที่เบาบางเฉลี่ย 4.5 หมื่นล้านบาท/วัน (YTD) คิดเป็น TURNOVER ราว 65% ต่อปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเม็ดเงินต่างชาติที่ยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงระดับความไม่มั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อ SET Index โดยอาจมีสาเหตุได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความไม่เป็นเอกภาพของแนวนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังของประเทศ, ความกังวลเรื่องตลาดตราสารหนี้ซึ่งในปี 2567 มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระจำนวนมากราว 8.8 แสนล้านบาท และมีสัญญาณที่บางส่วนมีความเสี่ยงต่อการชำระคืน นอกจากนี้ ยังมีความกังวลสงสัยถึงรูปแบบการซื้อขายผ่าน Program Trading และ การทำ Short Sell ในหุ้นที่มีขนาดกลาง-ใหญ่ สภาวะดังกล่าว ทำให้ SET Index มีความผันผวน เพิ่มความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในระยะสั้น
กลยุทธ์ที่แนะนำ เป็นการให้สะสมหุ้น คุณภาพดีที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่อง เพื่อการลงทุนระยะยาว อาทิ AP, SPALI, ADVANC, PTTEP, TTB และหุ้นอ้างอิงกับการท่องเที่ยว AOT, BDMS หลังจากมีการเปิดฟรีวีซ่าไทยจีนถาวร ตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นไป ส่วนเป้าหมาย SET Index สิ้นปี 2567 ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่บริเวณ 1650-1670 จุด ภายใต้ MEYG ที่ระดับ 3.3% อิง P/E 17.24 เท่า และใช้ EPS67F 96 – 97 บาท/หุ้น.-516-สำนักข่าวไทย