อินชอน 2 พ.ค.- “อาคม” ร่วมประชุมสภาผู้ว่าการเอดีบี ธนาคารกลางอาเซียน+3 ปรับแผนช่วยเหลือทางการเงินเร่งด่วนให้ประเทศสมาชิก เผชิญโรคระบาด เศรษฐกิจทรุด หนุนชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ครั้งที่ 56, การประชุม รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM+3) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-5 พ.ค.66 ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี โดยการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งที่ 56 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Rebounding Asia: Recover, Reconnect, and Reform” เพื่อหารือถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ADB เพื่อรองรับความต้องการความช่วยเหลือทางการเงินของประเทศสมาชิกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
สำหรับการประชุม รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับทิศทางความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค (The Regional Financial Architecture (RFA) Future Direction) โดยเห็นด้วยกับการสร้างกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบเร่งด่วนของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น และตอบสนองความต้องการด้านดุลการชำระเงินอย่างเร่งด่วนที่เกิดจากโรคระบาดหรือภัยพิบัติอย่างฉับพลัน
ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการทบทวนโครงสร้างส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiangmai Initiative Multilateralisation : CMIM) และมอบหมายให้ AMRO ดำเนินการต่อไปเพื่อให้ CMIM เป็นตัวเลือกทางการเงินที่มีประสิทธิภาพสำหรับประเทศสมาชิก ที่ประชุมยังเห็นชอบงบประมาณของ AMRO ประจำปี 2567 ตลอดจนมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย ที่สนับสนุนให้มีการออกพันธบัตรหานักลงทุนมาร่วมซื้อพันธบัตร และทำกฎระเบียบในการกำกับดูแล
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมทิศทางการดำเนินการในอนาคต และการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนงานภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 finance procress โดยครอบคลุมประเด็นยุทธศาสตร์ทิศทางการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์ได้มีการรายงานความคืบหน้าด้านการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบแล้ว ส่วนการพัฒนากลไกเพื่อแก้ปัญหาด้านมหาภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ที่ประชุมได้เห็นชอบความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ใหม่ในการศึกษา 4 หัวข้อ ประกอบด้วย การทำธุรกรรมและชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค การพัฒนาหนี้ภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยง การพัฒนาฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือน และการปฏิรูปนโยบายเพื่อรองรับการเงินเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง ได้เข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประชุม รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน-ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น มีแผนจัดทำถ้อยแถลงวิสัยทัศน์และแผนดำเนินงานฉบับใหม่ เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคต และรับรองเอกสารดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2566 ณ กรุงโตเกียว.-สำนักข่าวไทย