กรุงเทพฯ 2 พ.ค.- บอร์ด สมอ.ไฟเขียวให้กระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นสินค้าควบคุม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน เร่งรัดให้ สมอ.เตรียมประกาศบังคับใช้ภายในปี 2567
นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือบอร์ด สมอ. เปิดเผยภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ว่า บอร์ด สมอ. มีมติเห็
นชอบให้ สมอ. ควบคุมความปลอดภัยของกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นสินค้าควบคุม เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีก 16 มาตรฐาน อาทิ เครื่องบดทิ้งเศษอาหาร เครื่องซักฟอกทางอุตสาหกรรม แบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับงานอุตสาหกรรม และแบตเตอรี่สำหรับรถยกหรือหัวรถจักร เป็นต้น
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีสินค้าจำนวน140 รายการ ที่ สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำหรับกระดาษสัมผัสอาหารสำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน ได้แก่ กระดาษที่ใช้กับหม้ออบลมร้อน ถุงชา กระดาษกรองกาแฟ กระดาษรองเบเกอรี่ในเตาอบ เป็นต้น โดยมาตรฐานนี้กำหนดให้กระดาษต้องทำจากเยื่อบริสุทธิ์ หรือเยื่อบริสุทธิ์ผสมเส้นใยสังเคราะห์ที่ไม่ใส่สีในเนื้อกระดาษ ใช้เพื่อกรองของเหลวร้อน อุ่นอาหาร หรือปรุงอาหาร ที่อุณหภูมิไม่เกิน 220 องศาเซลเซียส โดยในมาตรฐานมีข้อกำหนดในการควบคุมการปนเปื้อนของสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม ปรอท ฯลฯ เมื่อกระดาษโดนความร้อนต้องมีการปนเปื้อนไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด และต้องไม่มีสารฟอกนวลและสารต้านจุลินทรีย์ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
สำหรับแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ สมอ.จะประกาศเป็นสินค้าควบคุม ครอบคลุมแบตเตอรี่ที่ใช้ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กตุ๊ก รถสามล้อขนาดเล็ก รถยนต์ รถกระบะ รถบัส รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดใหญ่ รวมทั้งแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฮบริด เป็นต้น ยกเว้นแบตเตอรี่ที่ทำจากตะกั่วกรด ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ เมื่อเกิดแรงกระแทกในการขับขี่จะต้องไม่เกิดการรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์ (สารเคมีซึ่งอยู่ในแบตเตอรี่ที่อาจติดไฟได้) ไม่มีการแตกร้าว และไม่มีไฟไหม้หรือการระเบิด เป็นต้น
ทั้งนี้ การบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวเป็นไปตามแผนการบังคับใช้ผลิตภัณฑ์ EV ที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เพื่อขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ ตลอดจนเตรียมการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ทั้ง 2 มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในปี 2567 เลขาฯ สมอ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย