12 เม.ย. 66
หากพูดถึงปัญหาร้อนแรงที่เยาวชนกำลังประสบปัญหามากกว่า 1.4 ล้านคน และยังคงเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง คงจะหนีไม่พ้น เรื่อง เยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม ซึ่งสามารถเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ ได้ว่า “NEET”
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดกลุ่มเยาวชน NEET
ข้อมูลจาก “งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย” จัดทำโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่า เยาวชนไทย NEET มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 15-24 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน เป็นร้อยละ 15 ของเยาวชนทั้งหมด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความหลากหลาย ประกอบไปด้วย นักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษาก่อนกําหนด เยาวชนว่างงานที่กําลังหางานทํา และไม่มีส่วนร่วมใด ๆ หรือเยาวชนที่รู้สึกท้อแท้ รวมถึงผู้ที่อยู่นอกเหนือตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ต้องดูแลครอบครัว คุณแม่วัยใสเยาวชนผู้พิการ และปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้เยาวชนกลายเป็น NEET เช่น เพศ การศึกษา และการขาดทักษะที่เหมาะสม สภาพเศรษฐกิจ สังคม การย้ายถิ่นฐาน ภูมิหลังทางชาติพันธุ์ สถานการณ์ด้านสุขภาพ สภาพแวดล้อมในครอบครัว และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
![NEET 02](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/04/12/1152814/1681287217_228942-tnamcot.jpg)
ปัญหา NEET เป็นหนึ่งในความท้าทาย ที่หลายภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ
ดร.ปฎิมา จงเจริญธนาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยืนยันว่า ปัญหา NEET มีความสำคัญ ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคส่วนอื่น ๆ ต้องสนับสนุนให้เร่งแก้ไข และช่วยเหลือเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ตั้งเป้าไว้ว่า สิ้นปี 2570 จะต้องทำให้สัดส่วนของ NEET ลดลง จากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 5 ให้ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับการแก้ไขปัญหา NEET ภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน ยอมรับว่า ยังไม่ได้กำหนดแนวทางพัฒนาสำหรับเยาวชนกลุ่ม NEET โดยเฉพาะ นางสาวนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงานกระทรวงแรงงานชี้แจงเหตุผลว่า ขณะนี้กลุ่ม NEET รวมอยู่กับกลุ่มเปราะบาง แรงงานกลุ่มเฉพาะ แรงงานนอกระบบ และผู้สูงอายุ จึงยังไม่ได้เจาะลึกลงไปที่กลุ่ม NEET อย่างชัดเจน จึงทำให้ไม่ทราบว่า เยาวชนที่เป็น NEET คือใคร แล้วกระทรวงแรงงานจะนำเยาวชนที่เป็น NEET เข้าสู่การพัฒนาทักษะ และเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งความท้าทายของกระทรวงแรงงานเช่นกัน
ปัจจัยหนึ่งที่กลุ่ม NEET ยังขาด คือ ระบบการศึกษาที่ยังไม่ครอบคลุม
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กลุ่ม NEET ยังขาดอยู่ คือ การศึกษา แต่แม้ประเทศไทยจะดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การศึกษาก็ยังไม่ครอบคลุมถึงเด็กทุกคน ซึ่งนางสาวโอ๋ ผู้แทนคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย อธิบายว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่สามารถตอบสนองปัจจัยสำคัญได้เพียงพอ เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การเดินทางไปโรงเรียน หรือค่าขนมในแต่ละวัน จึงเป็นหลายข้อจำกัด ที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้
“ท้ายที่สุดแล้ว รากฐานการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็ยังวนเวียนในเรื่องของการศึกษา ดังนั้น การผลักดันให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการแก้ปัญหานี้” นางสาวโอ๋กล่าว
![IMG_0121](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/04/12/1152814/1681288074_838637-tnamcot.jpg)
ไม่เพียงเท่านี้หลายคนอาจยังเข้าใจว่ากลุ่มเยาวชน NEET เกิดจากปัญหาทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่ยังไม่ครอบคลุมถึงเด็กทุกคน
การมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น ระบบการศึกษาเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ควรเน้นย้ำ การเรียนการสอนควบคู่กับการฝึกอบรมทักษะอาชีพ รวมถึงความรู้ด้านดิจิทัลเพื่อเยาวชนจะสามารถนำความรู้ ทักษะต่าง ๆ ไปประกอบอาชีพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมได้
ทีมข่าวรู้เท่าทัน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : มัญชุกาญจน์ นาคเถื่อน
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter