เจนีวา 30 พ.ค.- องค์การอนามัยโลกระบุว่า บุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละกว่า 7 ล้านคน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การผลิต การขนส่ง ไปจนถึงขยะที่เกิดขึ้น นานาชาติจึงต้องเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
นางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า บุหรี่เป็นภัยคุกคามต่อทุกคน ทำให้คนจนยิ่งจนลง ลดประสิทธิภาพในการผลิต และทำให้อากาศเป็นพิษ องค์การอนามัยโลกออกรายงานวันนี้ก่อนถึงวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปีละ 4 ล้านคนในช่วงเปลี่ยนคริสต์ศตวรรษเป็นปีละ 7 ล้านคนในขณะนี้ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากบริษัทบุหรี่ถูกบีบจากระเบียบเข้มงวดในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้บุหรี่ยังทำให้ครัวเรือนและรัฐบาลต้องเสียเงินไปกับค่ารักษาสุขภาพและการเสียประสิทธิภาพในการผลิตไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่ต่ำกว่า 47.8 ล้านล้านบาท) หรือเกือบร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก
รายงานขององค์การอนามัยโลกได้ระบุถึงพิษภัยของบุหรี่ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกว่า กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นไปจนถึงการสูบล้วนเต็มไปด้วยมลพิษและการทำลาย การปลูกยาสูบต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้เกิดการถางป่าเพื่อนำฟืนไปบ่มใบยาสูบ ต้นไม้ 1 ต้นต้องกลายเป็นฟืนไปบ่มบุหรี่ 300 มวน อุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ปีละเกือบ 4 ล้านตันจากการผลิต ขนส่ง และจัดจำหน่าย เทียบกับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกิดจากเครื่องบินบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 3 ล้านเที่ยว นอกจากนี้ขยะจากกระบวนการผลิตยังมีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด เป็นภัยทั้งต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม ยังไม่รวมสารพิษจากควันบุหรี่ และขยะจากก้นบุหรี่ที่คิดเป็นร้อยละ 40 ของขยะในเมืองและชายหาด เพราะสองในสามของบุหรี่ที่จำหน่ายทั่วโลกวันละ 15,000 ล้านมวนถูกทิ้งเกลื่อนไม่เป็นที่เป็นทาง.-สำนักข่าวไทย