ชุมพร 30 มี.ค. – คปภ. ผลักดัน “ประกันภัยสวนยางพารา” นำร่องชาวสวนยาง จ.ชุมพร หนุน ประกันภัยแบบครบวงจร คิดเบี้ยประกันภัยรายปี 99 บาทต่อไร่
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยสวนยางพารา) เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก สำคัญของภาคใต้ และเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 2 ของประเทศ โดยจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกยางพารา 781,004 ไร่ สำนักงานคปภ. จึงได้ร่วมบูรณาการกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดชุมพร บริหารความเสี่ยงให้กับชาวสวนยาง
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยสวนยางพารา รับประกันภัยต้นยางช่วงอายุ 7-26 ปี ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติหลัก สำหรับความเสียหายของต้นยางพาราที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกที่เอาประกันภัย ซึ่งได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงอันเป็นผลเนื่องจาก 1) ไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ที่เกิดจากหรือเป็นผลมาจากฟ้าผ่า 2) ภัยน้ำท่วม 3) ภัยลมพายุ ความคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ให้มีเครื่องมือลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ คิดเบี้ยประกันภัยรายปี (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) 99 บาทต่อไร่ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,600 บาทต่อไร่
เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยของสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย ลงพื้นที่ชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร
การรับเรื่องร้องเรียน ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ เพื่อเคาะประตูบ้านประชาชน รับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ ได้สะท้อนปัญหา หลากหลายโดยเฉพาะความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ ภัยลมพายุและภัยน้ำท่วม รวมทั้งโรคใบร่วง โรคราแป้ง โรคเส้นดำ โรคเปลือกเน่า โรครากขาว โรครากแดง แมลงและศัตรูพืช เช่น หนอนทราย ปลวก เพลี้ย และหนู การประกันภัยสวนยางพาราจะสามารถช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีเครื่องมือเพื่อบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้มากขึ้น
“ โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจการประกันภัยสวนยางพาราแก่ชุมชน ในท้องถิ่น เข้าถึงระบบประกันภัยและนำมาบริหารจัดการความเสี่ยง ตอบโจทย์ความต้องการของ เกษตรกรชาวสวนยางพาราอย่างแท้จริง ” เลขาธิการ คปภ. กล่าว .-สำนักข่าวไทย