กรุงเทพฯ 13 มี.ค.- รมว.คลัง ตามติดวิกฤติธนาคารในสหรัฐ หลัง ”SVB- Signature Bank” กระทบความเชื่อมั่นด้าน ‘จิตตะ เวลธ์’ มองกระทบต่อพอร์ตลงทุนธีมหุ้นสหรัฐ จำกัด เพราะกระจายลงทุนในหุ้นกว่า 700 ตัว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีที่ 2 ธนาคารสหรัฐ ได้แก่ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ถูกสั่งปิดว่า กระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเบื้องต้น ก็คาดว่าจะมีผลกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน และต้องรอฟังข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำหน้าที่ติดตามเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยที่ ผ่านมา ธปท. ยืนยันมาตลอดว่าเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงแข็งแรง ยังได้รับความน่าเชื่อถืออยู่เบื้องต้นทราบว่าสถาบันการเงินหรือกองทุนต่าง ๆ ของไทย เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 ธนาคารดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ส่งผลกับระบบการเงินของไทย
ส่วนตลาดพันธบัตรในขณะนี้ มองว่าเป็นไปตามภาวะตลาด แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 2 ธนาคาร มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้นักลงทุนตกใจ สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง และเมื่อกระทบกับความเชื่อมั่น ก็จะมีผลทำให้ต้นทุนในเรื่องของความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือไปจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารในสหรัฐฯ อีกด้วย
“อย่าไปพูดว่าเราไม่กังวล แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนต้องตั้งทีมพิเศษเพื่อติดตามเรื่องนี้หรือไม่นั้นเชื่อมั่นว่า ธปท. ก็เพียงพออยู่แล้วเท่าที่ติดตามดูตอนนี้ เบื้องต้นกระทบแค่ตลาดหุ้นไทย แต่อยากให้ดูอย่างดาวน์โจนส์ หลังจากที่เฟด-ก.คลังสหรัฐ ประกาศเรื่องความชัดเจนของภาระต่าง ๆ ดาวน์โจนส์ล่วงหน้าก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เคสอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยวิกฤติฟองสบู่ของเรา เรื่องของสหรัฐเข้าใจว่าเป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่อง หลักการของเขาก็จะคล้ายกับของเรา คือ ต้องไม่เป็นภาระประชาชน” นายอาคม กล่าว
ส่วนเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำเมื่อปี 2540 ซึ่งมีการคุ้มครองในระดับจำนวนหนึ่ง แต่ของไทยนั้นการคุ้มครองเมื่อถึงจุดหนึ่งที่หมดความจำเป็น ก็ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับปัจจุบัน ส่วนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา โดยจะมีการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบด้วย
นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (บลจ.) กล่าวว่าว่า การปิด 2ธนาคารสหรัฐ ย่อมสร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญเพราะภาคธนาคารมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นทางการสหรัฐฯ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือทันทีทำให้โอกาสการลุกลามของปัญหานี้อยู่ในวงจำกัด ต่างจากกรณีการล้มของ Lehman Brothers ในปี 2008 และมาตรการที่ออกมาอย่างรวดเร็วจะเข้ามาเสริมความเชื่อมั่นของลูกค้าว่าหากเกิดเหตุการณ์แบงก์ขาดสภาพคล่องไม่สามารถจ่ายคืนเงินฝากได้ กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อให้แบงก์ยังคงดำเนินการถอนคืนเงินฝากได้ตามปกติ ลดโอกาสเกิดปัญหา Bank Run ได้
ทั้งนี้ เฟดได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ออกมาตรการช่วยเหลือจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลสภาพคล่องของธนาคาร โดยกองทุนสามารถช่วยเหลือธนาคารที่มีปัญหาดังกล่าวในอนาคตได้ กองทุนพิเศษนี้จะช่วยให้ลูกค้าธนาคารได้รับเงินเงินฝากคืนได้ทั้งหมด ควบคุมผลกระทบในวงจำกัด ทำให้บริษัทที่ฝากเงินกับธนาคารเหล่านี้สามารถถอนเงินนำไปใช้ในการดำเนินกิจการปกติได้ นอกจากธุรกรรมเงินฝากแล้ว บริษัทที่มีธุรกรรมกับธนาคารในด้านอื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันทางการสหรัฐฯ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อขายสินทรัพย์ของธนาคาร และเปิดโอกาสในการเข้าซื้อธนาคารจากทุนต่างชาติ เมื่อการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ เสร็จสิ้น ธุรกรรมด้านอื่นๆ จะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตามในส่วนของ บลจ.จิตตะ เวลธ์ ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับพอร์ตการลงทุน Jitta Wealth อยู่บ้าง เช่น ธีมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร แต่มั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการกระจายการลงทุนกว่า 700 บริษัท ส่วนนโยบายการลงทุนอื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมโดยเฉพาะบริษัทเทคที่มีเงินฝากและธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารที่มีปัญหา แต่ด้วยมาตรการช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ เรามองว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน .–สำนักข่าวไทย