2 มี.ค. – รองโฆษก อสส. ขอให้ประชาชน และสังคมมั่นใจ 5 คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ อสส.ตั้งขึ้นมาตรวจสอบ ปมคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีดัง คาดใช้เวลาไม่นาน ในการคลายข้อสงสัยให้กับสังคม
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้าหลังนางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง 6 คดีสำคัญ ที่ก่อนหน้านี้อัยการผู้รับผิดชอบคดี มีคำสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ คดีเผาสวนงูภูเก็ต, คดีของนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก, คดีซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก หรือคดีที่บริษัทเครือของนายเปรมชัย กรรณสูต ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า, คดีของนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก, คดีบ่อนพนันออนไลน์มาวินเบตดอทคอม และคดีจับยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี รวม 6 คดี โดยได้ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบรวม 5 คณะ โดยเร่งด่วน
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สาเหตุที่มีการตรวจสอบทั้ง 6 คดี เนื่องมาจาก ทีมงานของอัยกาสูงสุดได้ตรวจสอบข่าวต่างๆ ที่มีการนำเสนอต่อสื่อมวลชน และจากบุคคลหลายส่วนรวมถึงนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ที่มายื่นเรื่องร้องเรียนต่ออัยการสูงสุดเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่ประชาชนให้ความสนใจและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และสำนวนการสั่งคดีว่าเป็นไปด้วยความถูกต้องหรือไม่ และอาจมีการเรียกพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือสื่อมวลชนที่มีการเผยแพร่ข่าวเข้ามาให้ข้อมูลด้วย โดยหากพบว่ามีประเด็นใดที่บกพร่องก็จะรายงานต่ออัยการสูงสุดโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่ากรอบระยะเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือน
ส่วนพนักงานอัยการ เจ้าของสำนวนทั้ง 6 คดี เบื้องต้นยังไม่ความผิดใด แต่หากการตรวจสอบสำนวนพบข้อบกพร่องก็ต้องนำเสนออัยการสูงสุดพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการทางวินัยอย่างไรหรือไม่ ส่วนจะถึงขั้นมีการรื้อคดีหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาตามข้อกฎหมายว่าเข้าหลักเกณฑ์การขอรื้อคดีหรือไม่ เช่น จะต้องพบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งกฎหมายมีแนวทางไว้ให้อยู่แล้ว
ส่วนที่ไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยตรวจสอบ แทนที่จะเป็นอัยการตรวจสอบอัยการด้วยกันเอง รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกอาจไม่ทราบถึงระเบียบและแนวทางการทำงานของพนักงานอัยการเท่าคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งคณะนี้เป็นว่าที่ อัยการสูงสุดหลายท่าน ที่จะมาทำงานสานต่อภารกิจจากอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 7 เดือน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและไว้วางใจคณะทำงานชุดนี้ ในการคลี่คลายข้อสงสัย ในประเด็นต่างๆ ให้กับประชาชน และสังคมได้
ทั้งนี้ 5 คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง มีรายละเอียดดังนี้ คณะที่ 1 คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก และคดีเผาสวนงูภูเก็ต ประกอบด้วย 1.นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รอง อสส.หัวหน้าคณะทํางาน 2.นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รอง อสส. 3.นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ ผู้ตรวจการอัยการ เป็นคณะทํางาน
คณะที่ 2 คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด กับพวก (บริษัทเครือเปรมชัยถูกกล่าวหารุกป่า) ประกอบด้วย 1.นายศักดา ช่วงรังษี รอง อสส.เป็นหัวหน้าคณะทํางาน 2.นายโชคชัย ทิฐิกัจจธรรม คณะทํางาน 3.นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สคช.เเละรองโฆษก อสส.คณะทํางาน
คณะที่ 3 คดี นายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก ประกอบด้วย 1.นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รอง อสส. หัวหน้าคณะทำงาน 2นายโกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ 3.นายคถา สถลสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เเละรองโฆษก อสส. เป็นคณะทำงาน
คณะที่ 4 คดี มาวินเบต ดอทคอม ประกอบด้วย นายสมเกียรติ คุณวัฒนานนท์ รอง อสส.เป็นหัวหน้าคณะทํางาน นายชาติ ชัยเดชสุริยะ อธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย 3.นายทรงพล สุวรรณพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด เเละรองโฆษก อสส.
คณะที่ 5 คดี ยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วย 1.นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รอง อสส.หัวหน้าคณะทํางาน 2.นายนิติ สุขเจริญ รองอธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย 3.นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ เเละรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
โดยให้คณะทำงานทั้ง 5 ชุดมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงาน อัยการสูงสุด 2.จัดทำลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ในการดำเนินคดีที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่รับสำนวน และการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงต่อที่ประชุม ก.อ. และสาธารณชน 3.เรียกสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา 4.เชิญพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือ ความเห็นประกอบการตรวจสอบ
5.เรียกเอกสารจากหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุดที่เก็บรักษาเอกสารเพื่อประกอบ การพิจารณา และให้หน่วยงานดังกล่าวให้ความร่วมมือจัดส่งเอกสารโดยพลัน 6.เชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือความเห็นประกอบการตรวจสอบ และขอเอกสารหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ให้หัวหน้า คณะทํางานฯ แต่ละคณะมีอำนาจลงนามในหนังสือออก 7.ให้หัวหน้าคณะทํางานแต่ละคณะมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมได้ตามความจําเป็น และเหมาะสม 8.ให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละคณะมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานให้สำเร็จ ลุล่วง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานได้ ตามที่เห็นสมควรและจำเป็น 9.รายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับการสั่งคดี และข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรต่ออัยการสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการในโอกาสแรก.-สำนักข่าวไทย