ทำเนียบรัฐบาล 6 ก.พ.-รมว.ยธ.ยันพักโทษ “ทักษิณ” เป็นไปตามกฎหมาย อายัดตัวเป็นเรื่องของ อสส. ชี้ นอน รพ.ถือว่ารับโทษแล้ว “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่ขออภัยโทษ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกระแสข่าว นายทักษิณ ชินวัตร จะได้รับการพักโทษวันที่ 18 ก.พ. ว่า เรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมการพิจารณาพักโทษของกรมราชทัณฑ์ที่มีทั้งสิ้น 19 คน จากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาก่อน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะประชุมกันทุกเดือน มีนักโทษจำนวนหลายร้อยคน ส่วนเดือนนี้จะประชุมกันวันไหน ต้องถามกรมราชทัณฑ์ ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่ถึงตน แต่น่าจะประชุมใกล้ ๆ นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงเอกสารที่หลุดออกมาว่านายทักษิณจะได้รับการพักโทษ ว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบ การให้พักโทษจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ไม่ได้ดูที่ชื่อคน การพักโทษเหมือนถูกลงโทษอยู่ แต่กฎหมายอนุญาตให้พักโทษ ส่วนถ้าได้รับการพักโทษ นายทักษิณต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการและกรมคุมประพฤติ จะลงไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง สิทธิของผู้พักโทษ อยากให้ได้รับสิทธิตรงเวลาตามมาตรฐานสากล ยืนยันว่า การให้สิทธิพักโทษนายทักษิณเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ละเอียดอ่อน
เมื่อถามย้ำว่า กรณีนายทักษิณจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในทางกฎหมายถือว่าถูกควบคุมตัวคือได้รับโทษ แต่ในความรู้สึกของคนอาจมีมุมมองที่แตกต่าง การอยู่โรงพยาบาล เขาใช้คำว่าห้องควบคุม ถูกควบคุม ซึ่งในอดีตมีผู้ที่เจ็บป่วยถูกควบคุมตัวที่สถานโรงพยาบาลห้องควบคุมพิเศษ ดุลยพินิจนี้อยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ใช่หมอ โดยในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจ อยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีเงื่อนไขทางด้านความปลอดภัยและอีกหลายเงื่อนไข
ส่วนกระแสข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการเตรียมขออายัดตัวนายทักษิณ มาดำเนินคดีตามความผิดมาตรา 112 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดี 112 เป็นคดีนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวน และจะประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมสอบสวนด้วย การอายัดตัวเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวในคดีอื่นอยู่ แล้วมีคดีใหม่เข้ามา ถึงต้องอายัดตัวเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนสำหรับคดีใหม่ ซึ่งต้องดูว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ เรื่องนี้ให้ไปถามสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินการอย่างไร
“ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม หากขออายัดตัว จะอำนวยความสะดวกให้พนักงานสอบสวน กรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจคงหมดหน้าที่ เพราะเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด ที่จะต้องนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาไปประกอบการพิจารณา ถ้าสอบสวนเสร็จแล้วก็หมดอำนาจอายัดตัว ซึ่งอาจปล่อยตัวชั่วคราวหรือควบคุมตัว เพื่อรอกระบวนการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ถือว่าเป็นคดีใหม่ ตอนนี้ต้องถามอัยการว่าสอบสวนแล้วหรือยัง ถ้าสอบสวนเสร็จแล้วก็ไม่ต้องอายัดตัว” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “ไม่ทราบเลย ไม่มี”.-317.-สำนักข่าวไทย