จันทบุรี 20 พ.ค.-ประธาน สนช. ระบุ หากฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังย้ำจุดยืนในร่างกฎหมายลูก กกต.-พรรคการเมือง อาจต้องหาข้อยุติในที่ประชุม สนช. หรือนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อหาทางออก พร้อมยืนยัน สนช.ไม่คิดยื้อเวลา
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า โครงการสัมมนา เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในวันนี้ (20 พ.ค.) คณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะชี้แจงให้สมาชิก สนช.รับทราบถึงความคืบหน้าของการพิจารณา แต่เท่าที่ทราบคณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะยังไม่ได้ลงมติในประเด็นที่สำคัญ คาดว่าจะรอฟังผู้แปรญัตติก่อน
ส่วนประเด็นในร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ที่ทั้ง กกต.และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังยืนยันในแนวทางของตนเอง จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า การพิจารณาร่างกฎหมายลูกใน สนช.ยุคนี้ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างจากการพิจารณากฎหมายในรัฐสภาปกติที่ต้องฟังความเห็นจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
“การพิจารณากฎหมายลูกนั้น หลักการ คือ ใครพอใจหรือไม่พอใจ ไม่รู้ แต่ให้ประชาชนพอใจ นั่นคือหลักการของเรา ซึ่งเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องการหักหน้ากัน แต่เป็นหลักการที่ต้องมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ เมื่อร่างกฎหมายลูกเสร็จแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไปว่าร่างดังกล่าวขัดหลักการของรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายพรเพชร กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณากฎหมายลูก แล้วท้ายที่สุด สนช.ตีตกร่างดังกล่าว จะเป็นการยืดกรอบเวลาหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า หากตีตกในเวลานี้ กรอบเวลาจะไม่เปลี่ยน เพราะยังคงอยู่ในกรอบเวลา 240 วันในการร่างกฎหมายลูก ยืนยันว่า สนช.ไม่ยื้อเวลา เพราะกรอบเวลากฎหมายลูกได้กำหนดไว้หมดแล้ว แต่ขออย่าคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้า ซึ่งการร่างกฎหมายนั้นเป็นไปตามหลักการ แต่หากทุกฝ่ายยังยืนยันในจุดยืนของตนเอง ก็ต้องหาข้อยุติ ซึ่งอาจเป็นการหาข้อสรุปในที่ประชุม สนช. หรือการตั้งกรรมาธิการร่วมต่อไป
ส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน จะนำมาขยายความในร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.เพื่อให้ความชัดเจนว่าจะรวมการประกาศผลการเลือกตั้งหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เป็นเรื่องของกรรมาธิการ แต่ตามหลักการ หากเขียนขึ้นมาแล้วมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ต้องหาทางออกต่อไป
นายพรเพชร ยังกล่าวถึงกรณีการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หลังที่มีประกาศของ คสช. ว่า ไม่เกี่ยวกับ สนช. แต่เป็นการดำเนินการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.-สำนักข่าวไทย