กรุงเทพฯ 6 ม.ค. – สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยทนไม่ไหว เตรียมส่งหนังสือทวงถามกระทรวงพาณิชย์อีกครั้งเพื่อขอปรับราคาอาหารสัตว์ ย้ำต้นทุนวัตถุดิบยังคงสูงอยู่จากหลายปัจจัย ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะยังสูงต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน ชี้มาตรการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบก่อนหน้านี้ ช่วยคลี่คลายปัญหาขาดแคลน แต่ไม่แก้ไขด้านต้นทุน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวว่า เตรียมทำหนังสือถึงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เพื่อย้ำให้พิจารณาเห็นชอบการปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ โดยสมาคมได้พยายามนำเสนอปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2564 ล่าสุดกรมการค้าภายในตอบกลับเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ว่า สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติ จึงขอให้ชะลอการปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ไปก่อน รวมทั้งให้หันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยนายพรศิลป์ระบุว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยการตั้งสมมุติฐานที่สวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ยังคงมีอยู่ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนั้นยังคงมีอยู่ซึ่งอีกนานกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ อีกทั้งยังมีปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ดังนั้นจึงคาดว่า ราคาวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจะสูงต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน
สำหรับการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) โดยมีเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดปริมาณนำเข้าและเวลานำเข้าในช่วงสั้นๆ (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2565) ช่วยไม่ให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน แต่ไม่ช่วยให้ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับลดลง มีผู้ประกอบการอาหารสัตว์หลายกลุ่มที่ปรับสูตรการผลิตมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศเช่น มันสำปะหลังเส้น ปลายข้าวมากขึ้นซึ่งมีโปรตีนต่ำกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองมากขึ้นซึ่งการนำเข้ายังคงภาษี 2% อยู่ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาการใช้วัตถุดิบทดแทนให้เหมาะสมเพื่อควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงไปกว่านี้ เพราะหากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มีราคาที่สูงขึ้นไปกว่านี้ การลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรที่มีอยู่จำนวนมากในขณะนี้จะเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเห็นว่า การพิจารณาดำเนินการของรัฐโดยใช้ข้อสมมุติฐานที่สวนทางกับข้อเท็จจริง แสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และปศุสัตว์ จึงจะทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในอีกครั้งเพื่อให้พิจารณาเรื่องการปรับราคาอาหารสัตว์อย่างเร่งด่วน
นายพรศิลป์กล่าวว่า สมาคมได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วยแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ สมาคมจึงอยู่เฉยไม่ได้ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ซึ่งเป็นสมาชิกร้องเรียนว่า ได้ยื่นเสนอโครงสร้างต้นทุนราคาวัตถุดิบเพื่อขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นไปยังคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด โดยการขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (Price list) ครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปถึงปี 2555 ซึ่งตอนนั้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสัดส่วนกว่า 70% ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาต่ำกว่าปัจจุบันนี้อย่างมาก
นายพรศิลป์กล่าวย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ การอนุมัติปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับที่ให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับราคาตามราคาข้าวสาลี อีกทั้งต้องทำควบคู่ไปกับการปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ไม่เช่นนั้นผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ทนไม่ไหว อาจต้องลดกำลังการผลิตหรือปิดสายการผลิตบางส่วน ที่จะส่งผลกระทบต่อฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย