กรุงเทพฯ 28 พ.ย. – “ศักดิ์สยาม” สั่ง กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยกระดับท่าอากาศยานในกำกับทุกแห่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ มีเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ ลดความแออัดสนามบินส่วนกลาง และพร้อมพัฒนาสนามบินเชื่อมโยง MR-Map ดึงการลงทุน MRO
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลัง เป็นประธานในพิธีงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 89 ปี โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารในหน่วยงานกระทรวงคมนาคม และนายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากายาน (ทย.) ร่วมงาน โดยกรมท่าอากาศยาน ที่กำกับ ท่าอากาศยาน 29 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบกับธุรกิจการบินกำลังจะกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายประเทศเริ่มมาตรการผ่อนคลายการเดินทาง ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรองรับกับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งประเทศไทย จะเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญของนักลงทุน รวมถึงภาคการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งจะมีปริมาณขนส่งสินค้าที่มีความต้องการมากยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ จึงให้นโยบาย กรมท่าอากาศยาน พัฒนาศักยภาพสนามบินทุกแห่ง ยกระดับท่าอากาศยานในสังกัดสู่มาตรฐานท่าอากาศยานระดับนานาชาติ มีเส้นทางเชื่อมโยงจัดบินระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระจายรถความแออัดของท่าอากาศยานนานาชาติ ในพื้นที่ส่วนกลางได้อย่างเห็นผล
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม มีแผนการบูรณาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบคมนาคมเป็นแผนแม่บท โดยให้มีการเชื่อมโยงท่าอากาศยาน กับการขนส่งรูปแบบอื่น ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่มีแผนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง (ทล.) ร่วมกับระบบราง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือ MR-MAP ด้วยระยะรวมประมาณ 7,003 กิโลเมตร พร้อมทั้ง พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง 4,321 กิโลเมตร ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ร่วมกับท่าอากาศยานส่วนภูมิภาค ภายใต้การกำกับดูแล ของ ทย. ให้เชื่อมโยงกับ เส้นทาง MR-MAP นับเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ที่จะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่โน้มอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคในเอเซียแปซิฟิค มีอัตราการเติบโตสูงสุดของโลก ไทยสามารถสร้างโอกาสการให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องบินโดยใช้ศักยภาพสนามบินภูมิภาคของไทย จึงได้มอบหมายให้ ทย. ศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนา ธุรกิจ New S-Curve ของไทย รวมถึงการเพิ่มศักยภาพรองรับตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน ให้เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานของไทยในอนาคต สร้างรายได้ที่มีการเติบโต มั่นคงและยั่งยืนซึ่งไทยได้มีการศึกษาและออกแบบเบื้องต้น ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศ พบว่ามีท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ได้คะแนนในระดับสูงเหมาะสมเป็นที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และ ท่าอากาศยานพิษณุโลก
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศสูงเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน 5+1 ด้วยจุดเด่นที่ท่าอากาศยานภายใต้ความดูแลของกรมท่าอากาศยานมีที่ตั้งครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมในการรองรับอากาศยานที่นิยมใช้ขนส่งสินค้าทางอากาศในระดับสากล มีการเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ อย่างครอบคลุมทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และแนวโน้มในการเปลี่ยนไปใช้ท่าอากาศยานรองรับในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย