อุบลราชธานี 26 พ.ย.-ภาครัฐและเอกชนเห็นตรงกันโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปี 66 เติบโตได้แน่ 3.5-4% โดยภาครัฐเตรียมแผนดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า 5 ล้านล้านบาท และอาจไม่จำเป็นต้องใช้คนละครึ่งมากระตุ้นเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ฟื้นเศรษฐกิจไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ที่ จังหวัดอุบลราชธานี ว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4 และการส่งออกจะเติบโตร้อยละ 3-5 จากปีนี้ที่ส่งออกเติบโตร้อยละ 8 ตามที่ภาคเอกชนคาด เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 หลังผ่อนคลายการกลับมาเปิดประเทศทำให้การบริโภคและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้น และได้อานิสงค์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยมองว่า โครงการคนละครึ่งไม่จำเป็นต้องมีอีกเพราะเศรษฐกิจและการบริโภคสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปีหน้าภาครัฐจะเร่งเดินหน้าการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งให้ภาคเอกชนขณะนี้วางแผนเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไว้ที่ 5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 8-10 ปี โดยจะเป็นการลงทุนทั้ง ในระบบสาธารณูปโภค พลังงาน ซึ่งเม็ดเงินในการระดมทุนจะมาจากการออกพันธบัตร เงินกู้และงบประมาณภาครัฐ และมาตรการของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนนั้น อยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็น และจากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวมาตรการเดิมที่เคยมี อาจจะลดลงได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เข้าใจหากรัฐบาลจะไม่มีโครงการคนละครึ่งอีกในช่วงปลายปี เพราะงบประมาณมีจำกัด ซึ่งงบประมาณต่างๆมาจากภาษีประชาชน และในช่วงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านั้น เรื่องปากท้องควรเป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลใหม่จะต้องให้ความสำคัญ หากไม่เห็นความสำคัญของปากท้องอาจจะอยู่ได้ยาก โดยเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้เชื่อว่าจะดีขึ้นแล้ว และจะไม่เกิดสุญญากาศด้านนโยบายเศรษฐกิจ
ประเทศไทยเวลานี้ยังต้องเผชิญกับวิกฤติซ้อนวิกฤติหลายด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ และสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศได้ส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายจังหวัด การทำงานที่มีความใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน มั่นใจจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิกฤติต่างๆ ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงเครือข่ายของหอการค้าทั่วประเทศ มีส่วนในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี และจากการทำงานที่ใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ในรูปแบบของ กรอ. พาณิชย์ ทำให้การเจรจาการค้าเกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปประเทศจีน และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การส่งออกในภาพรวมปีนี้ มั่นใจจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 8 สูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ ร้อยละ 4
นอกจากนี้ หอการค้าไทยจะทำงานร่วมกับ BOI ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงซาอุดีอาระเบียที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว หอการค้าไทยพร้อมประสานให้มีการร่วมลงทุนระหว่าง 2 ประเทศได้ ซึ่งมีภาคธุรกิจหลายส่วนสนใจที่จะไปร่วมลงทุนในซาอุดีอาระเบียแล้ว รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากซาอุดีอาระเบียเข้ามายังประเทศไทยด้วย และจากเวทีการประชุมเอเปค ประเมินได้ว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศราว 6 แสนล้านบาท และการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับชาวต่างชาติ ยังถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยในขณะนี้หอการค้าไทยยังอยู่ระหว่างการศึกษา และเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนในประเทศได้เข้าใจ ซึ่งการลงทุนของต่างชาติยังถือเป็นเรื่องจำเป็นของประเทศไทย ดังนั้น หอการค้าไทยคาดว่า GDP ของประเทศในปีหน้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4 ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ ร้อยละ 3-5
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การปรับตัวของประเทศไทยและผู้ประกอบการไทย สู่ธุรกิจ BCG และการนำแนวทาง ESG มาใช้เพื่อความยั่งยืน” ว่า รัฐบาลไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) มาเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและมุ่งสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงเจตนารมณ์ไว้กับนานาชาติในปี 2564 เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โดยโมเดล BCG มองไปไกลกว่าผลกำไรของภาคธุรกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุลต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และพนักงานในองค์กร ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง นอกจากนี้ โมเดล BCG จะเกี่ยวข้องกับครึ่งหนึ่งของการจ้างงานใน 4 สาขาอาชีพ ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ BCG จะเพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของจีดีพีไทยในอนาคต
ภาคเอกชนได้ขานรับนโยบาย BCG ด้วยการขับเคลื่อนตามแนวคิด ESG หรือการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล โดยวันนี้ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีคิดให้สอดคล้องกับทิศทางและสถานการณ์ดังกล่าว ไม่เช่นนั้นเราจะทำงานกับนานาชาติได้ยาก เพราะตอนนี้หลาย ๆ ประเทศเริ่มตั้งกำแพงภาษีเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นในยุโรปที่จะทดลองใช้กำแพงภาษีตัวใหม่ที่เรียกว่า Carbon Boarder Adjustment Mechanism (CBAM) กับการนำเข้าสินค้า 5 ชนิดในปีหน้า ส่งผลให้สินค้าแต่ละชนิดต้องมีฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ไม่เกิดที่กำหนด มิเช่นนั้นต้องเสียภาษีเพิ่ม ที่น่ากลัวคือ ต่อไปกำแพงภาษีนี้จะเกิดขึ้นในอเมริกา แคนาดา และอีกหลายประเทศๆ รวมถึงอาจครอบคลุมสินค้าส่งออกหมวดอื่น ๆ ที่มีผลกระทบกับประเทศไทยมากขึ้น เช่น ภาคการเกษตร เพราะฉะนั้นถ้าจะค้าขายกับนานาชาติ ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางการทำธุรกิจ โดยตนไม่อยากให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นภาระ แต่อยากให้เห็นเรื่องความยั่งยืนเป็นโอกาสและแต้มต่อทางธุรกิจเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย