กระทรวงสาธารณสุข 29 เม.ย. โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 73 ของประชาชนไทยที่เสียชีวิตทั้งหมด
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว. สาธารณสุข กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน พิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 73 ของประชาชนไทยที่เสียชีวิตทั้งหมด โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองในปี 2559 มีอัตราตายสูงสุด 27,069 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน และโรคหลอดเลือดหัวใจ พบอัตราตาย 18,922 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่สามารถป้องกันหรือลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ จะส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาลเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศสำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากการตรวจร่างกายในผู้อายุ 15 ปีขึ้นไป พบโรคเบาหวาน 3.1 ล้านคน โดยในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 11,389 คน เฉลี่ยวันละ 32 คน ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในสังกัด 698,720 ครั้ง ค่ารักษาปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท ปัญหาของโรคนี้หากควบคุมอาการไม่ได้ จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งเรื่องไตวาย เท้าเน่า ตาบอด โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองตามมาั้งนี้ การสำรวจภาวะสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 5 ปี 2557 พบคนไทยมีอัตราการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด พบมากถึง 14 ล้านคน ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เลือดออกในสมอง สมองขาดเลือด หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว น้ำคั่งในปอด ไตวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ค่าใช้จ่ายจากการมีผู้ดูแล ขาดงาน สูญเสียผลผลิต ความพิการ เกษียณอายุก่อนวัย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากกรมการแพทย์ปี 2557 การรักษาผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นผู้ป่วยนอกมีค่าใช้จ่าย 831 บาท/คน/ปี ผู้ป่วยใน 4,586บาท/คน/ปี ถ้ามีผู้ป่วย 10 ล้านคน ต้องเสียค่าใช้จ่าย 79,263 ล้านบาท/ปี.-สำนักข่าวไทย