ทำเนียบ 29 ต.ค. – รัฐบาลเอาจริงปราบฉ้อโกงออนไลน์ มอบดีอีเอสประสาน ดีเอสไอ สตช. แบงก์ชาติ พร้อมติดตามการดำเนินคดีผู้กระทำผิด รวบรวมผลรายงานนายกรัฐมนตรีใน 30 วัน พร้อมหนุนป้องกันเยาวชนจากภัยออนไลน์
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์ และการขยายตรง การพนันออนไลน์ รวมทั้งการหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ โดยคนร้ายมักปรับรูปแบบและวิธีฉ้อโกงและหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อโดยมิรู้เท่าทัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาที่ประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด และหากเป็นกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการทำผิดนั้นจะต้องลงโทษเด็ดขาด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้มีการหารือถึงปัญหาดังกล่าวและได้มีมติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม และให้เร่งติดตามการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวบรวมผลการดำเนินการและรายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
ภายหลัง ครม. มีมติมอบหมาย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รัฐมนตรีดีอีเอส ได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น ดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ สตช. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางเร่งรัดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างเร่งด่วน โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาหลอกลวงทางการเงิน 5 ด้าน ประกอบด้วย แก๊งคอลเซ็นเตอร์, แชร์ลูกโซ่-ระดมทุนออนไลน์, การพนันออนไลน์, บัญชีม้าและการหลอกหลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีการแจ้งความจำนวนมาก ตั้งแต่ มี.ค.-ต.ค. 65 มีจำนวน 110,000 คดี สร้างความเสียหายประมาณ 10,000 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากปัญหาการฉ้อโกงประชาชนแล้ว รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เนื่องจากมีการศึกษาและผลสำรวจของหน่วยงานต่างๆ ออกมาสะท้อนว่าเยาวชนอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายจากโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น ผลการวิจัยอนาคตศึกษา เรื่อง การพัฒนานโยบายการจัดการการสื่อสารของเด็กและเยาวชนไทยในทศวรรษหน้า โดยสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ในปี 2565 ที่พบว่าเด็กและเยาวชนใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นและด้วยอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ อาจเผชิญกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย จนอาจมีผลต่อพัฒนาการตามช่วงวัยที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบทางลบทั้งทางกาย จิตใจ สติปัญญา กระทั่งอาจเกิดความสูญเสียที่ไม่คาดคิด
“เกี่ยวกับปัญหานี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การประสานการทำงานทั้งรัฐและเอกชนสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และสื่อต่าง ร่วมกันสร้างเครือข่ายในการป้องกันผลกระทบต่อเด็กจะสื่อออนไลน์ พัฒนาการเรียนรู้ที่เท่าทัน ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสนับสนุนให้มีการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมาขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว .-สำนักข่าวไทย