กสม. 20 ต.ค.-กรรมการสิทธิ์ฯ แนะรัฐรวมกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาไว้ในพระราชบัญญัติฉบับเดียว ง่ายต่อการค้นหาข้อมูล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ คุ้มครองสิทธิสุขภาพสิทธิเด็ก หวั่นผลกระทบการบริโภคกัญชาไม่เหมาะสม
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ และต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชงไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และไม่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการใช้สารเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล เกินร้อยละ 0.2 ตั้งแต่ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่งมีรายงานการใช้กัญชานอกเหนือจากการใช้ทางการแพทย์ และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการใช้กัญชาออกมาเป็นระยะ ทำให้หลายภาคส่วนมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบจากการใช้กัญชา โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ และบุคคลที่มีโรคประจำตัวบางโรค
“เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้กัญชาที่ไม่ปลอดภัย กสม.มีข้อเสนอแนะการจัดทำกฎหมายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี คือคณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสุขภาพตามประกาศต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิผล ควบคุมการผลิตและจำหน่ายหรือใช้กัญชา กัญชงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณกัญชา กัญชงที่ใช้ในอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ควบคุมลักษณะบรรจุภัณฑ์และฉลาก ต้องไม่มีลักษณะจูงใจให้เด็กและเยาวชนบริโภค ผลิตภัณฑ์ต้องให้ข้อมูลส่วนผสมของกัญชา กัญชงโดยละเอียด และพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชา” น.ส.สุภัทรา กล่าว
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ส่วนของรัฐสภาควรพิจารณาให้มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่รวบรวมมาตรการเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงให้อยู่ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้กัญชา กัญชงและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายเข้าถึงมาตรการที่กำหนดได้โดยง่าย และควรพิจารณาให้มีมาตรการคุ้มครองด้านสุขภาพและควบคุมการใช้กัญชา กัญชงในกฎหมาย คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคมปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้กัญชา กัญชง เช่น กำหนดระดับของการสูบหรือบริโภคกัญชาที่ห้ามขับขี่ยานพาหนะและการห้ามทำงานกับเครื่องจักร ห้ามทำงานในที่สูง หรือทำงานในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ กำหนดให้ตรวจจับระดับการสูบ / บริโภคกัญชาขณะขับขี่ยานพาหนะ เช่นเดียวกับการตรวจจับแอลกอฮอล์ รวมทั้งพัฒนากฎหมายห้ามการขับขี่ยานพาหนะ และการทำงานกับเครื่องจักรในลักษณะอื่น ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะที่บริโภคกัญชา กัญชงไว้เป็นการเฉพาะด้วย.-สำนักข่าวไทย