กรุงเทพฯ 22 ก.ย. – กรมการแพทย์ชี้สารเคมีรั่วไหลทำให้พิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังในกรณีที่ได้รับสะสมเป็นเวลานาน โดยอาการพิษเฉียบพลันมีอาการหลายระดับ ตั้งแต่ระคายเคืองผิวหนัง เยื่อบุทางเดินหายใจ ตา มีน้ำมูก น้ำตาไหล แสบตา แสบคอ แน่นหน้าอก ไอ บางรายสูดดมมากจะคลื่นไส้อาเจียน เดินเซ หากเข้าไปในร่างกายปริมาณมากอาจเสียชีวิตได้ แนะควรมีการป้องกันและซ้อมแผนกรณีฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยของพนักงาน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุการณ์สารเคมีโรงงานรั่วไหล อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมมลพิษแจ้งว่าเป็นสาร Biphenyl และ Diphenyl Oxide เป็นสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซิน ระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และทางเดินหายใจ กดระบบประสาทส่วนกลาง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและระยะเวลาการสัมผัสกับสารเคมีนั้นๆ
ส่วนผลจากการสัมผัสสะสมเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน และมะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้สารกลุ่มอะโรเมติกเบนซิน เป็นสารระเหย จึงสามารถแพร่กระจายไปยังแหล่งกำเนิดประกายไฟที่อยู่ห่างไกลได้ และไอระเหยสามารถเกิดพิษกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้ามาช่วยเหลือได้
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดการรั่วไหลของสารเคมี หากคนทำงานสูดดมเข้าไปในขั้นแรกจะรู้สึกถึงกลิ่นสารเคมีนั้น เมื่อได้กลิ่นจะรู้สึกผิดปกติ ส่วนมากจะวิ่งหนีได้ทัน ยกเว้นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ไม่มีกลิ่น ซึ่งบางโรงงานจะมีคำแนะนำเรื่องการทำงานและสารเคมีที่เกี่ยวข้องให้แก่คนทำงาน เพื่อให้รู้จักหลบหลีก และมีการซ้อมแผนอพยพ เพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าโรงงานที่ไม่มีการซ้อมแผน คนทำงานจะหนีกันคนละทิศละทาง ทำให้ไปปิดบังทางออก ไม่สามารถออกได้ หรือเบียดกัน จนทำให้หมดสติ
ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ พนักงานในโรงงานจะต้องทราบเสมอว่าตนเองทำงานกับสารเคมีอะไร และเมื่อเกิดเหตุการณ์จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการฝึกซ้อมเหตุการณ์ฉุกเฉิน
กรณีสารเคมีรั่วไหล เพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที การรู้ชนิดของสารเคมีที่สูดดมเข้าไปจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา ในบางครั้งผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือและผู้รักษาพยาบาลนั้นไม่ทราบชนิดของสารเคมี ทำให้ไม่สามารถรักษาพยาบาลได้ถูกต้อง ปัจจุบันเมื่อมีเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลเกิดขึ้น ยังไม่มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสารเคมี ทำให้ไม่ทราบชนิดของสารเคมี และโรงงานไม่ยอมบอกชนิดของสารเคมีที่รั่วไหล เนื่องจากถือเป็นความลับ ทำให้การรักษาพยาบาลค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังตนเองหลังหายใจสารเคมีจำนวนมาก คือจะต้องแจ้งอาการให้แพทย์ทราบเป็นระยะ ถ้ามีอาการแสบคอหรือจมูกเกินกว่า 2 วัน มีอาการเดินเซ เวียนศีรษะไม่หาย หรือมีอาการหอบเหนื่อย แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องทราบเสมอว่าตนเองทำงานกับสารเคมีอะไร และเมื่อเกิดเหตุการณ์จะต้องรีบหนีให้ทันท่วงที
สำหรับการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 1.ถ้ามีการสัมผัสทางผิวหนังและดวงตาอันก่อให้เกิดระคายเคือง ควรล้างด้วยน้ำสะอาด การอาบน้ำ 2.เสื้อผ้าหากปนเปื้อนให้ถอดออกทำความสะอาดด้วยการซักปกติ 3.หากยังมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น แสบจมูก ลำคอ สามารถล้างด้วยน้ำเกลือ หรือกลั้วคอเพื่อลดอาการ 4.หากมีอาการอื่นๆ ที่สงสัยว่าจะเกิดจากเหตุการณ์นี้ ให้ปรึกษาทีคลินิกมลพิษออนไลน์ หรือเบอร์ 0 2517 4333 สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี เพื่อคัดกรองและรับคำแนะนำ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสารเคมีไดเฟนิลออกไซด์สัมผัสระยะสั้นจากการหายใจไม่มีผลระยะยาว.-สำนักข่าวไทย