ภูมิภาค 16 ก.ย. – “พล.อ.ประยุทธ์” ตรวจน้ำท่วมระยอง ให้กำลังใจชาวบ้าน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคองเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อน หวั่นท่วมซ้ำรอยปี 64 ขณะที่ชาวนาพิจิตรเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ด้านผู้ว่าฯ อยุธยา ประกาศเขตพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 6 อำเภอ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสาธิต ปิตุเดชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดระยอง พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในการลงตรวจสถานการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 2 กันยายนได้ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับการลงพื้นที่วันนี้ พล.อ ประยุทธ์ ใช้รถยนต์ฟอจูนเนอร์ ทะเบียน กฉ 4212 ระยอง ซึ่งทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาถึงศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเทศบาลตำบลทับมา อ.เมือง จ. ระยอง ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าโรงครัวพระราชทานมูลนิธิเพื้อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ก่อนรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วม จาก พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือ ภ.1 ว่า การประสบภัยพื้นที่ที่ประสบภัยในครั้งนี้ที่หนักสุดคืออำเภอเมือง อำเภอแกลง และหนักที่สุดคือตำบลบ้านนา อำเภอแกลง โดยได้มีการจัดกำลังสนับสนุนจากกองทัพเรือ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่มาก เนื่องจากฝนตกมากผิดปกติและต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำท่วมและกระจายไปยังตำบลข้างเคียง
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จิตอาสา ผู้บริจาคที่มาช่วยเหลือ นี่คือประเทศไทย ใครเดือดร้อนก็มาช่วยกันและสิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการได้รับผลกระทบก็จะแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ดังนั้น ดีใจว่าสถานการณ์เริ่มลดลงแล้ว ขณะที่กองทัพเรือระบุว่าน้ำท่วมหนัก แต่กำลังใจของชาวบ้านดีเยี่ยม เพราะหน่วยงานราชการทุกภาคส่วน มูลนิธิ จิตอาสา เข้ามาช่วยแม้ว่าจะท่วมหนักแต่ก็มีรอยยิ้ม
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าน้ำลดได้เร็วกว่านี้จะยิ้มกว้าง แต่น้ำเป็นสะสารที่ควบคุมไม่ได้ พร้อมกันนี้ขอบคุณทุกคนและขอให้ทุกคนปลอดภัยประชาชนปลอดภัยประเทศปลอดภัย จากนั้นนายกรัฐมนตรี ขึ้นรถยกสูงเดินทางหมู่บ้านแดนใหม่ ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง ให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย โดยได้โบกมือให้กำลังใจกับประชาชนที่ยังคงติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งมีชาวบ้านที่ออกมาขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนเดินทาง ไปยังศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย (โรงเรียนเทศบาลทับมา) ซึ่งเป็นศูนย์ศูนย์พักพิง ผู้ประสบภัยเยี่ยมให้กำลังใจพบปะและมอบสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จ.นครราชสีมา เร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนลำตะคอง เพื่อผลักดันน้ำออกนอกเขตใจกลางเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 9 กิโลเมตร ลงสู่ลำน้ำมูล เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์พายุฝนตกหนัก หลังจากเขื่อนลำตะคองมีการปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนจากเดิมวันละ 860,000 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไหลลงเขื่อนลำตะคองกว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 275 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 75% ของความจุ
นายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวว่า ต้องเฝ้าดูสถานการณ์น้ำเขื่อนลำตะคองอย่างใกล้ชิด ประเมินเป็นรายชั่วโมง เนื่องจากขณะนี้มีมวลน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเร่งผลักดันการระบายน้ำให้น้ำไหลผ่านเขตตัวเมืองพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในโดยเร็วที่สุด มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันเกิดสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเมื่อปีที่แล้ว
ขณะที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะในพื้นที่แม่น้ำยม ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร คือ อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล ระดับน้ำยังสูง โดยล่าสุดระดับในแม่น้ำยมอยู่ที่ 5.28 เมตร แม้ว่าจะยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่เพียง 1 เมตร แต่ยังคงล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนบางจุดตามริมฝั่งของแม่น้ำยมในเขตอำเภอสามง่ามต้องถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม 3 ตำบล เกือบ 100 หลังคาเรือน ขณะที่ชาวนาในพื้นที่ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำต่างนำรถเกี่ยวข้าวเร่งทำการเก็บเกี่ยวข้าว หลังน้ำแม่น้ำยมตอนบนที่ไหลจากจังหวัดสุโขทัย และ จังหวัดพิษณุโลก ไหลเข้าสู่พื้นที่จังหวัดพิจิตร และมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวนาในพื้นที่ ซึ่งเป็นลุ่มต่ำมักจะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จึงเร่งเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำในแม่น้ำยม
นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ แล้ว จำนวน 6 อำเภอ 82 ตำบล 475 หมู่บ้าน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร ให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมกว่า 50 เครื่อง สูบน้ำสะสม 28 วัน ปริมาณน้ำสะสม 7,600,000 ลบ.ม. และจัดตั้งผนังกั้นน้ำและวางกระสอบทรายในเขตพระราชฐาน โบราณสถาน และพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แจกจ่ายถุงยังชีพให้พี่น้องประชาชน รวมทั้งสิ้น 7,148 ชุด ทั้งนี้ มีประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือน รวม 22,323 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 3,418 ไร่.-สำนักข่าวไทย