มะนิลา 24 ส.ค. – ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี กล่าววันนี้ว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจจะทำให้ประชาชนมากถึง 80 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ในสภาพความยากจนขั้นรุนแรงเมื่อปีที่แล้วและอาจส่งผลกระทบกับความคืบหน้าในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาของโลกในการขจัดความยากจนและความหิวโหยให้หมดไปภายในปี 2030
เอดีบี ซี่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์ กล่าวจากแบบจำลองของเอดีบีพบว่า ความยากจนขั้นรุนแรง ซึ่งหมายถึงสัดส่วนประชาชนที่มีเงินรายได้ต่ำกว่าวันละ 1.90 ดอลลาร์ หรือประมาณ 63 บาท โดยอัตราความยากจนขั้นรุนแรงจะลดลงไปอยู้ที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2020 จากร้อยละ 5.2 ในปี 2017 หากไม่มีการระบาดของโควิด-19 แต่วิกฤติการณ์ของโรคระบาดทำให้อัตราความยากจนขั้นรุนแรงของเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ของที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เอดีบี กล่าวในรายงานด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ หากพิจารณาในเรื่องความไม่เท่าเทียมในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษาและการที่ต้องหยุดการทำงานที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบกับการเดินทางหรือการเคลื่อนย้ายของประชากรและทำให้กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไป
เอดีบี ระบุด้วยว่า มาตการในการรับมือกับการระบาดของไวรัสส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำลังปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพมีความสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะความยากจน จากรายงานของบรรดาประเทศในเอเชียแปซิกฟิก ซึ่งหมายถึงประเทศกำลังพัฒนา 46 ชาติ และประเทศพัฒนาแล้ว 3 ชาติที่เป็นภาคีสมาชิกของเอดีบี มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ในปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานลดลงประมาณร้อยละ 8 ซึ่งส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีฐานะยากจนและแรงงานนอกระบบ นอกจากนั้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ยังเพิ่มความท้าทายให้ภูมิภาคนี้ในการที่จะบรรลุซึ่งเป้าหมายด้านการพัฒนาที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้เมื่อปี 2015.-สำนักข่าวไทย