อังกฤษ 5 ก.พ. – เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์เก่าแก่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สมัยนาซีเยอรมันเป็นอย่างไร ติดตามได้ในสีสันต่างประเทศ
อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมืองนอตติ้งแฮมไชร์ จัดงานวันรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยนาซีเยอรมัน เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีบรรดาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาเล่าประสบการณ์ที่พวกเขาเผชิญมาพร้อมทั้งตอบข้อซักถามและเตือนคนรุ่นหลังไม่ให้ทนต่อการเหยียดเชื้อชาติและกดขี่ข่มเหง
ผู้รอดชีวิตในวัย 80-90 หลายคนยังคงแข็งแรง แต่ละปีจำนวนผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ลดลงเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็คงไม่มีใครเหลือที่จะมานั่งเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ฟังอีกแล้ว นี่จึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเก็บบันทึกเรื่องเล่าของผู้คนเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้รับรู้จากปากผู้รอดชีวิตได้โดยตรง
คริส วอล์กเกอร์ จากบริษัทไบรท์ ไวท์ (Bright White) เป็นผู้คิดทำโครงการ Forever Project เพื่อให้ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังพูดคุยกับคนรุ่นหลังได้แม้จะลาโลกไปแล้ว โดยนำเทคโนโลยีภาพและเสียงความคมชัดสูง พร้อมทั้งเทคโนโลยีจดจำเสียงเชื่อมต่อเข้ากับฐานข้อมูลคำถามและคำตอบทั่วไปที่ผู้คนมักซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากกว่า 1,000 ชุด วอล์กเกอร์บันทึกเรื่องเล่าของบรรดาผู้รอดชีวิต 10 คน ราวคนละ 1 ชั่วโมง พร้อมทั้งถามคำถามแต่ละคนอีก 1,000 คำถาม แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาบันทึกไว้ในรูปแบบดิจิทัล เมื่อมีผู้ถามคำถาม โปรแกรมก็จะใช้เวลาสักครู่ค้นหาคำตอบที่ถูกต้องตรงกัน
ชาวยิว 6 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันของนาซี รวมทั้งเชลยศึกโซเวียต ชาวยิปซี คนรักร่วมเพศ และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพวกนาซีอีกหลายล้านคน อังกฤษจัดงานวันรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในวันที่ 27 มกราคมทุกปีมาตั้งแต่ปี 2544 เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษเพื่อใช้ที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในไม่ช้า. – สำนักข่าวไทย