รัฐสภา 22ต.ค.-กมธ.พัฒนาการเมือง สว. ถกเหลือ 3 วันสุดท้าย คดีตากใบหมดอายุความ “อังคณา” ชี้การออก พ.ร.ก.หยุดอายุความเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย ชี้ช่องฟ้องศาลระหว่างประเทศ เหตุมีมูลเป็น “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ฝากรัฐบาลอย่าโยนวาทกรรมใส่ผู้เสียหาย กังวลความไว้เนื้อเชื่อใจที่สร้างมากำลังสูญหาย
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้มีการประชุมเรื่องคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความอีก 3 วัน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9 , กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า , สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานอัยการภาค 9 รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งผู้มาชี้แจงใน กมธ. มีเพียงตำรวจภูธรภาค 9 และตัวแทนสำนักงานอัยการมาเท่านั้น
น.ส.อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สุาษณ์ก่อนการประชุมถึงกรณีที่เหลือเวลาอีกเพียง 3 วันจะหมดอายุความคดีตากใบว่า รัฐบาลควรออกพระราชกำหนด ขยายอายุความหรือหยุดอายุความ ซึ่งจากการติดตามข่าวนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าทำไม่ทัน ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่ทัน แต่ส่วนตัว เชื่อว่า ถ้าเร่งจริงจริงก็สามารถดำเนินการได้ทัน เพราะการออกพระราชกำหนดนั้น คณะรัฐมนตรีสามารถมีมติได้ โดยขอให้อายุความหยุดอยู่ตรงนี้ก่อนจนกว่าจะนำตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย ที่ยังหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม หากประตูนี้ถูกปิดก็ยังมองไม่เห็นทางออก หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาศาล ในเวลาที่เหลืออยู่ คดีก็จะหมดอายุความไปตามกฎหมาย จะทำให้ทุกคนที่ถูกกล่าวหาลอยตัวพ้นผิด เหมือนกรณีของเหตุการณ์กราดยิงมัสยิตกรือเซะ
ส่วนที่หากวันที่ 25 ต.ค.นี้ ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหามาได้ครบ ประเมินสถานการณ์อย่างไร นางอังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวก็กังวลจริงๆ เพราะเราอยู่กับเหตุการณ์นี้มาตลอด 20 ปี เราก็บอกไปว่าความไว้เนื้อเชื่อใจที่มันกำลังริเริ่มขึ้น และมีมาในระยะหนึ่งอาจจะหมดไป เมื่อคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งใช้การต่อสู้ด้วยความรุนแรง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทุกฝ่ายเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่เราก็ปล่อยให้โอกาสในการพิสูจน์ความจริงในศาลหมดไป ถ้าไม่สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวหน้าศาลได้ คงหลีกเลี่ยงยากในการที่จะเกิดความรุนแรงตามมา ส่วนตัวก็ได้แต่พูดว่าเสียดายความไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมีที่อาจจะหมดไป
เมื่อถามว่าอยากจะฝากอะไรถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่พรรคประชาชาติก็ทำพื้นที่ภาคใต้ และนั่งเป็นหัวหน้าดูเรื่องนี้โดยตรง นางอังคณา กล่าวว่า “ท่านรัฐมนตรียุติธรรม เราก็ได้เห็นความพยายามของท่านมาโดยตลอด แต่ว่าหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงอื่น หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีการสนับสนุน ส่งเสริมที่จะทำให้มีการพิสูจน์ความจริง เช่น กรณีที่ศาลออกหมายจับแล้ว กลับปล่อยให้คนหายไปไหนตั้ง 7-8 คน โดยที่ไม่รู้มีข่าวว่าคนหนึ่งอยู่อังกฤษ อีกคนอยู่ญี่ปุ่น แล้วที่เหลือไปไหน ตรงนี้ก็เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างมากและตรงนี้เราจะคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างไร”
นางอังคณา กล่าวทิ้งท้ายว่า จากรายงานการศึกษา ทุกฉบับพูดถึงปัญหาภาคใต้ว่าเกิดจากความรู้สึกไม่เป็นธรรม แล้ววันนี้ประเทศไทยกำลังสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นมาอีก ที่สำคัญอีกประการที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือรัฐบาลต้องหยุดในการที่จะสร้างวาทกรรมในการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย เราจะเห็นหน่วยงานรัฐบางหน่วยพยายามที่จะพูดว่ากรณีตากใบเป็นการจัดการ เป็นกระบวนการ เป็นการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อให้เกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่ กมธ.เองหรือทุกฝ่ายพูดในวันนี้คือใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน 78 คน ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน ไม่ว่าเขาจะมีความเชื่อแบบใด บุคคลเหล่านั้นต้องไม่ตาย ไม่ต้องมาเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ
นางสาวอังคณา กล่าวว่าทางออกสุดท้ายของประชาชนที่จะต่อสู้กับคดีนี้ หากกลไกในประเทศไทยไม่ทำงาน ประชาชนก็ สามารถฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ ซึ่งในสหภาพยุโรปหรือหลายประเทศ อนุญาตให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถที่จะฟ้องร้องคดีได้ และเมื่อศาลรับฟ้อง หรือมีคำพิพากษาบุคคลเหล่านั้นก็ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเหล่านั้นได้ หากไปก็จะถูกจับกุม และสามารถถูกลงโทษ ตามกฎหมายของประเทศนั้น และกรณีนี้อาจจะเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง ต่อมนุษยชาติ หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็สามารถที่จะนำเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้หากวันหนึ่งประเทศไทย ลงสัตยาบัน
อย่างไรก็ตามเมื่อไม่มีสัตยาบันกับต่างประเทศ ก็คงทำอะไรไม่ได้และต้องยอมรับว่า กระบวนการที่ล่าช้า ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนโยนความผิดให้กับผู้เสียหาย ซึ่งความจริงแล้วคดีอาญาแผ่นดินไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้เสียหาย ที่จะฟ้องร้องเอง แต่เป็นหน้าที่ของอัยการ
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าคดีนี้ผ่านมาถึง 20ปี ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควรนั้น นางสาวอังคณากล่าวว่า กรณีที่ผ่านมาทำให้เกิด การเปรียบเทียบว่าเวลาประชาชนทำผิด ก็ถูกลงโทษ แต่พอเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด แทบจะไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้เลย โดยเฉพาะกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เปราะบาง มีความอ่อนไหว และเป็นพื้นที่ที่ยังเกิดความรุนแรงอยู่ แม้ประเทศไทยจะไม่ยอมรับว่า เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งทางอาวุธ แต่ในทางสากล การใช้ความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานานก็เข้าข่าย ความขัดแย้งทางอาวุธ เพราะมีความขัดแย้งกันจากเรื่องของชาติพันธ์ ความเชื่อ ศาสนาประเพณีและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง
นางสาวอังคณา กล่าวว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องสังคายนากฎหมายตรงนี้ โดยควรต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงจะต้องไม่มีอายุความ การขยายนิยามของคำว่าผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น เพราะวันนี้ ผู้เสียหายจะหมายถึงสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยเท่านั้น แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือในภูมิภาคอื่นที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องแทน ดังนั้นควรแก้ไขกฎหมาย มีให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทรมาน และการบังคับสูญหาย.-312.-สำนักข่าวไทย