นิวยอร์ก 3 เม.ย.- ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในสหรัฐที่หายแล้วแสดงความจำนงจะบริจาคน้ำเหลืองหรือพลาสมาเพราะมีภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี หวังว่าจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยคนอื่น
สตรีชาวนิวยอร์กวัย 45 ปี เป็นไข้สูง หายใจลำบากช่วงกลางเดือนมีนาคม ผลตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ขณะนี้เธอหายดีแล้วและเพิ่งไปตรวจหาแอนติบอดีเป็นคนแรกของรัฐ หวังมีส่วนร่วมในการทดลองหาวิธีรักษาโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วกว่า 52,000 คน เธอได้เริ่มสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ Survivor Corps ชักชวนผู้ป่วยที่หายแล้วมาร่วมบริจาคพลาสมา สำนักงานอาหารและยาสหรัฐอนุมัติให้ทำการทดลองแล้ว อย่างไรก็ดี แพทย์ที่ศูนย์โลหิตนิวยอร์กเตือนว่า การทดลองอาจไม่ให้ผลอย่างที่หวังเพราะวงการแพทย์ยังรู้จักไวรัสตัวนี้น้อยมาก
ด้านแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์เออร์วิ่งอธิบายว่า สันนิษฐานกันว่าร่างกายผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาต้านทานภายใน 7-14 วันหลังเริ่มติดเชื้อ จากนั้นจะสร้างแอนติบอดีจำนวนมาก แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะสร้างได้มากที่สุดเมื่อใด ข้อมูลบางแห่งชี้ว่าอาจเป็นช่วง 28 วันหลังการติดเชื้อ หวังว่าการวิจัยพลาสมาผู้ป่วยที่หายแล้วจะช่วยให้ได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น การบริจาคพลาสมาแต่ละครั้งอาจช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 3-4 คน เป้าหมายหลักขณะนี้คือ รวบรวมพลาสมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถทำการทดลองกับกลุ่มควบคุมระหว่างผู้ได้รับพลาสมาธรรมดาและผู้ได้รับพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายแล้ว นอกจากนี้ยังจะทดลองกับผู้ที่กำลังรับการรักษาในโรงพยาบาลและใช้เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อในสถานที่เฉพาะ เช่น บ้านพักคนชราด้วย แพทย์ยอมรับว่า ปกติแล้วการทดลองทางคลินิกกับคนต้องมีการควบคุมเคร่งครัดมากและต้องใช้เวลานาน แต่เนื่องจากขณะนี้เกิดวิกฤตจึงต้องยอมปรับเปลี่ยนบ้าง.- สำนักข่าวไทย