ลอนดอน 11 มี.ค.- ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคไข้เลือดออกระบาดพร้อมกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะตรวจผิดพลาดเนื่องจากอาการของทั้งสองโรคมีความใกล้เคียงกัน
วารสารแลนเซ็ตเผยแพร่รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 4 มีนาคมว่า การแยกความแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกและโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะทั้งสองโรคมีลักษณะทางคลินิกและห้องทดลองปฏิบัติการคล้ายกัน หากผลตรวจไข้เลือดออกเป็นบวกแพทย์ก็มักสรุปก่อนว่าเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่ไข้เลือดออกระบาด ดังนั้นการมีชุดตรวจไวรัสโคโรนาที่เชื่อถือได้ พร้อมใช้ และราคาไม่แพงทั่วถึงทั้งภูมิภาคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำ อันจะเป็นการปกป้องประชาชนในวงกว้าง
รายงานยกตัวอย่างชาวสิงคโปร์สองคนที่พบเชื้อไข้เลือดออกจากการตรวจทางเซรุ่มวิทยาอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นพบว่าติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคโควิด-19 ทั้งคู่ไม่ได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงแต่มีอาการไข้และไอ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โรคที่เกิดจากไวรัสทุกอย่างมีความคล้ายกันมาก เช่น อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวที่พบได้ทั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา หรือไข้ชิคุนกุนยา ด้านองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ไวรัสไข้เลือดออกและไวรัสโคโรนาโควิด-19 แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้อาการเบื้องต้นคล้ายกัน แต่จะแยกแยะได้เมื่อมีการดำเนินโรค แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งตรวจตามข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ป่วย
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนี้ สิงคโปร์พบผู้ป่วย 166 คน มาเลเซีย 129 คน ไทย 53 คน เสียชีวิต 1 คน ฟิลิปปินส์ 35 คน เสียชีวิต 1 คน เวียดนาม 34 คน อินโดนีเซีย 19 คน บรูไน 6 คน กัมพูชา 2 คน ขณะที่สถานการณ์ไข้เลือดออกเมื่อปีก่อนในภูมิภาคนี้ ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วย 403,000 คน อินโดนีเซีย 110,000 คน ไทย 106,000 คนในช่วง 8 เดือนแรก สปป.ลาว 38,000 คน ส่วนสิงคโปร์พบผู้ป่วยมากเป็นประวัติการณ์ถึง 1,723 คนในช่วง 5 สัปดาห์แรกของปีนี้.- สำนักข่าวไทย