อินโดนีเซีย 9 ต.ค.- หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลอินโดนีเซียเคยระบุว่าพื้นที่โดยรอบอ่าวปาลูเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรณีวิทยาเนื่องจากสภาพดินมีความอ่อนตัว
เมื่อปี 2555 รัฐบาลกลางของอินโดนีเซียเคยจัดทำแผนที่บ่งชี้ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ในเมืองปาลูบนเกาะสุลาเวสีว่าเป็นพื้นที่ที่ดินอ่อนตัวซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินยุบตัว ในรายงานยังแนะนำด้วยว่าพื้นที่ลักษณะนี้ไม่เหมาะกับการก่อสร้างบ้านเรือนหรือทำเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ของอินโดนีเซียระบุว่าไม่รู้สึกแปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมาซึ่งมีทั้งแผ่นดินไหวรุนแรงและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมืองปาลู ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 2,000 คน เพราะหลายปีก่อนนักวิทยาศาสตร์เคยเตือนว่าพื้นที่รอบอ่าวปาลูซึ่งเคยประสบภัยพิบัติมาแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว ดินถล่ม สึนามิ และดินอ่อนตัวซ้ำอีก ในขณะที่ลักษณะภูมิประเทศของอินโดนีเซียซึ่งประกอบด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่ราว 17,000 เกาะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนไฟแห่งแปซิฟิค ก็เป็นพื้นที่ที่มักเกิดภัยพิบัติรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดีเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดซึ่งเป็นการเคลื่อนตัวของรอยแยกแผ่นเปลือกโลกตามแนวระดับกลับทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงถึง 6 เมตร ทั้งๆ ที่การเคลื่อนตัวในลักษณะนี้มักไม่ทำให้เกิดสึนามิ ขณะนี้ทางการกำลังค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นใต้น้ำและในเดือนหน้าจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเข้ามาร่วมประเมินเหตุการณ์ด้วย.-สำนักข่าวไทย