นิวยอร์ก 7 ก.ค.- เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ของสหรัฐเผยแพร่คำอธิบายของนักดำถ้ำประสบการณ์สูงชาวอเมริกันว่า เหตุใดการช่วยเหลือเยาวชนไทยทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจึงเป็นภารกิจที่ยากลำบาก
ยูเอสเอทูเดย์เผยแพร่คำอธิบายของนายฟอร์เรสต์ วิลสัน นักดำถ้ำคนสำคัญของคณะกรรมการกู้ภัยถ้ำแห่งชาติสหรัฐที่มีประสบการณ์ดำถ้ำและร่วมภารกิจกู้ภัยในถ้ำมาร่วม 50 ปีว่า การเจาะถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจากด้านบนไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่แผนที่ที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่แม่นยำพอจะบอกได้ว่าควรเริ่มเจาะที่จุดใด เขาไม่แน่ใจว่าทางการไทยมีวิทยุบอกตำแหน่งภายในถ้ำหรือไม่ แต่หากมีก็ไม่น่าจะช่วยอะไรเพราะการเจาะลงไปยังจุดที่เยาวชนทั้ง 13 คนติดอยู่นั้นต้องเจาะผ่านหินแข็งมากลงไปถึงครึ่งไมล์ (ราว 0.8 กิโลเมตร) ขณะที่ด้านบนเป็นป่าทึบ แทบไม่มีถนนลำเลียงอุปกรณ์การขุดเจาะ
ต่อข้อถามที่ว่าถ้ำนี้มีขนาดใหญ่เหตุใดจึงต้องเป็นห่วงเรื่องออกซิเจน นายวิลสันอธิบายว่า การระบายอากาศภายในถ้ำไม่ดีเหมือนข้างนอก แม้ถ้ำมีขนาดใหญ่แต่เส้นทางที่ซับซ้อนทำให้เนินนมสาวที่ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 12 คน และโค้ชอยู่มีอากาศเข้าไปถึงไม่มากพอ ระดับออกซิเจนในถ้ำขณะนี้เหลือประมาณร้อยละ 15 และลดลงเรื่อย ๆ เทียบกับสภาวะปกติภายนอกที่มีระดับออกซิเจนร้อยละ 21 ระดับออกซิเจนน้อยจะทำให้ร่างกายเหนื่อยมากกว่าปกติแม้แค่ขยับร่างกายธรรมดา
ส่วนเรื่องน้ำในถ้ำ ขณะนี้เครื่องสูบน้ำทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สูบน้ำออกไปแล้วกว่า 35 ล้านแกลลอน แต่เทียบแล้วไม่ต่างจากหยดน้ำในทะเลเพราะถ้ำเป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่มาก หากจะรอให้เข้าหน้าแล้งในอีก 4 เดือนข้างหน้าเพื่อให้น้ำลดเองตามธรรมชาติ ก็เกรงว่าจะนานเกินไปสำหรับเด็ก ๆ ขณะที่การพาเด็กดำน้ำออกจากถ้ำก็เป็นวิธีการที่เสี่ยงเพราะร่างกายพวกเขายังไม่พร้อมต่อการดำน้ำนานถึง 5 ชั่วโมง แต่ในที่สุดแล้วอาจจำเป็นต้องใช้วิธีนี้เพราะฝนมีท่าทีว่าจะหนักอีก
นายวิลสันพูดถึงหนทางที่ดีที่สุดที่จะนำคนออกจากถ้ำว่า ต้องหาทางออกด้านหลังถ้ำให้เจอเพราะถ้ำขนาดใหญ่มักมีทางออกด้านหลัง แต่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนที่เป็นป่าทึบ เช่นเดียวกับปากปล่องถ้ำที่ทุกฝ่ายกำลังตระเวนหา เพราะเป็นหนทางที่จะนำเยาวชนทั้งหมดขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย นายวิลสันยอมรับว่า ตลอดชีวิตการดำถ้ำของเขาไม่เคยเห็นภารกิจที่สาหัสเหมือนที่ถ้ำหลวงของไทยมาก่อน.-สำนักข่าวไทย