สวนรื่นฤดี 29 เม.ย.-กอ.รมน. แจงดำเนินคดีกับนักวิชาการ ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ย้ำคดี ม.112 เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ขอให้สังคมเคารพกระบวนการและรอการตัดสินจากศาล
พลตรีธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษก กอ.รมน. กล่าวถึงกรณีที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 3 ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อ ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกันและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร นั้น
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.68 คณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 3 ได้ให้ข้อมูลตอบคำถามผ่านระบบประชุมทางไกล ทั้งนี้ ทาง กอ.รมน. ทราบว่ายังมีบางประเด็นที่ยังให้คำตอบที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้สังคมและประชาชนอาจเกิดความไม่เข้าใจและสงสัยถึงประเด็นดังกล่าว ในโอกาสนี้ กอ.รมน. ขอเรียนถึงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
จากประเด็นที่คณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามถึงการใช้อำนาจใดในการดำเนินการแจ้งความ ต้องขอเรียนว่า การกระทำที่อาจเข้าข่ายผิด มาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐถือเป็นอาญาแผ่นดิน นอกจากนี้ในประมวลกฎหมาย ป.วิ อาญา ม.2(4) และ ม.8 ผู้พบเห็นการกระทำผิดอาญาโดยเฉพาะถ้าเป็นความผิดอาญาที่กระทบต่อสาธารณะสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ซึ่งบุคคลทั่วไป หรือหน่วยงาน ที่พบเห็นข้อความ การแสดงออก หรือการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ กอ.รมน. ภาค3 ได้รับการแจ้งเบาะแสจึงดำเนินการตรวจสอบตามข้อมูลที่ได้รับแจ้ง และตรวจพบการกระทำที่มีลักษณะอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 จึงได้เข้าร้องทุกข์และแจ้งความต่อตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ
ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาข้อเท็จจริง พยาน หลักฐาน แล้วตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่ เมื่อขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการศาลแล้วการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอาจทำได้อย่างจำกัด ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถที่จะตัดสินหรือสรุปเองได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะจะถือเป็นการละเมิดและก้าวล่วงอำนาจศาล
สำหรับประเด็นที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาตรา 7 ขอเรียนว่า อำนาจในส่วนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกลไกในการจัดทำแผนงานเพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่มีความซับซ้อนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน จึงต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายบริหารเพื่อนำไปดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติด การเสริมสร้างความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรณีคดีของ ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส เป็นคดีอาญาไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรา 7
ส่วนในกรณีที่มีการสันนิษฐานว่า ห้วงเวลาในการดำเนินคดีกับ ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส อยู่ระหว่างการเตรียมการเจรจาเรื่องการขึ้นภาษีกับสหรัฐอเมริกา อาจสร้างผลกระทบหรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยหรือไม่ ต้องขอเรียนว่าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กับเรื่องภาษีเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน มีสถานะทางกฎหมายและผลกระทบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน กอ.รมน.ภาค 3 เป็นหน่วยงานความมั่นคง มีหน้าที่ปกป้องความมั่นคงของสถาบันของชาติ การกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ว่าจะโดยคนไทยหรือชาวต่างชาติ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งการพิจารณาในชั้นศาลถือว่าเป็นกระบวนยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่าย สามารถนำหลักฐาน ข้อเท็จจริง พยานมาชี้แจงแสดงได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยขอยืนยันว่าการดำเนินคดีกับ ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส เป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักนิติธรรม พร้อมขอให้สังคมรอการตัดสินจากกระบวนการยุติธรรม และเคารพอำนาจศาลในการพิจารณาคดี.-313.-สำนักข่าวไทย