นิวเดลี 12 ก.ค.- อินเดียเปิดเผยรายงานเบื้องต้นเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินแอร์อินเดียตกเสียชีวิตเกือบทั้งลำเมื่อเดือนก่อนโดยพบว่า สวิตช์ตัดการจ่ายเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ถูกสับลงหลังจากขึ้นบินได้ไม่กี่นาที
สำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินของอินเดียหรือเอเอไอบี (AAIB) ออกรายงานเบื้องต้นในวันนี้ กรณีเครื่องบินโบอิง 787 ดรีมไลเนอร์ของแอร์อินเดีย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอินเดีย ตกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน หลังทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานในเมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดียเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงลอนดอนของอังกฤษ ทำให้คนบนเครื่องบินที่มีทั้งหมด 242 คนเสียชีวิตเกือบทั้งลำ โดยมีผู้โดยสารรอดชีวิตเพียงคนเดียว และทำให้มีคนบนพื้นดินเสียชีวิตอีก 19 คน ทั้งนี้ ระเบียบสากลกำหนดให้ต้องออกรายงานเบื้องต้นภายใน 30 วันหลังเกิดเหตุ และออกรายงานตัวจริงภายใน 1 ปี
รายงานเบื้องต้นลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามเวลามาตรฐานสากลว่า เครื่องบินเดินทางจากกรุงนิวเดลีมาลงจอดที่อาห์เมดาบัด เมื่อเวลา 05.57 น. และเริ่มกระบวนการเตรียมขึ้นบินตั้งแต่เวลา 07.48 น. จนกระทั่งทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานเมื่อเวลา 08.08.39 น. เครื่องบินบินด้วยความเร็วสูงสุด 180 นอต เมื่อเวลา 08.08.42 น.ซึ่งเป็นเวลาที่สวิตช์ตัดการจ่ายเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์หมายเลข 1 และหมายเลข 2 ถูกสับจากตำแหน่งทำงานหรือรัน (RUN) ลงไปอยู่ที่ตำแหน่งตัดหรือคัตออฟ (CUTOFF) ในเวลาห่างกันเพียง 1 วินาที ทำให้เครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่องเริ่มทำงานลดลงเพราะเชื้อเพลิงถูกตัด

ข้อมูลบันทึกการบินในห้องนักบินได้ยินเสียงนักบินคนหนึ่งถามว่า เหตุใดจึงสับสวิตช์ นักบินอีกคนตอบว่าไม่ได้ทำ ภาพจากกล้องวงจรปิดของท่าอากาศยานเห็นว่า ใบพัดฉุกเฉินขนาดเล็ก (RAT) ที่ซ่อนอยู่ใต้ท้องเครื่องบินถูกเปิดใช้งานทันทีที่เครื่องบินทะยานขึ้นจากท่าอากาศยาน เครื่องบินเริ่มเสียระดับการบินก่อนข้ามผ่านกำแพงของท่าอากาศยาน
จากนั้นเมื่อเวลา 08.08.52 น. สวิตช์ตัดการจ่ายเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์หมายเลข 1 ถูกสับขึ้นไปอยู่ที่ตำแหน่งรัน ตามด้วยสวิตช์ของเครื่องยนต์หมายเลข 2 ที่ถูกสับขึ้นในอีก 4 วินาที ต่อมานักบินได้แจ้งเมย์เดย์ (MAYDAY) ซึ่งเป็นสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉินเมื่อเวลา 08.09.50 น.และกล่องบันทึกข้อมูลการบินหยุดทำงานในอีก 6 วินาที ก่อนที่เครื่องบินตกชนอาคารและเกิดไฟไหม้เมื่อเวลา 08.14.44 น.
ข้อมูลของรัฐบาลอินเดียระบุว่า กัปตันของเที่ยวบินนี้มีอายุ 56 ปี และมีชั่วโมงบินรวม 15,638 ชั่วโมง ส่วนนักบินผู้ช่วยมีอายุ 32 ปี และมีชั่วโมงบินรวม 3,403 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่นักบินจะสับสวิตซ์โดยบังเอิญ เพราะปกติแล้วจะต้องสับลงเพื่อตัดการจ่ายเชื้อเพลิงทันทีที่เครื่องบินเคลื่อนตัวมาถึงประตูท่าอากาศยาน และใช้ในเหตุฉุกเฉินบางกรณี เช่น เครื่องยนต์เกิดไฟไหม้.-814.-สำนักข่าวไทย