13 เม.ย. – สงกรานต์ เป็นหนึ่งในประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้จึงมีการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่คล้ายคลึง แต่จะมีรายละเอียดของพิธีกรรมที่ต่างกันออกไป
สงกรานต์ ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์ ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา รวมถึงสิบสองปัน ทางตอนใต้ของจีน โดยคำว่า “สงกรานต์” มีที่มาจากคำว่า “สัง-กราน-ตะ” ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า การก้าวขึ้นผ่าน การเคลื่อนที่หรือย้ายที่ ซึ่งจะหมายถึงการที่พระอาทิตย์เคลื่อนตัวจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุกๆ เดือน ที่จะเรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับช่วงเดือนเมษายน จะเรียกว่า “มหาสงกรานต์” และถือเป็นการขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ โดยประเทศไทยกำหนดวันนับเทศกาลสงกรานต์ อยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี
แม้ประเทศเพื่อนบ้านในดินแดนอุษาคเนย์ จะมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่กลับมีรายละเอียดของเทศกาลสงกรานต์ที่แตกต่างกันไป
เทศกาลสงกรานต์ของลาว หรืองานบุญปีใหม่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 เมษายน โดยวันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่วง” ซึ่งเป็นวันที่ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกไป และพร้อมรับสิ่งดีเข้ามา วันที่สอง เรียกว่า “วันเนา” เปรียบเสมือนวันครอบครัวที่ญาติพี่น้องจะร่วมกันทำพิธีบายศรีสู่ขวัญญาติผู้ใหญ่ และวันสุดท้าย เรียกว่า “วันสังขารขึ้น” หรือวันขึ้นปีใหม่ ที่จะมีการบายศรีสู่ขวัญ สรงน้ำพระ และการแห่นางสังขาร หรือเทพีสงกรานต์
ส่วนเมียนมา เรียกเทศกาลสงกรานต์ว่า เทศกาล “ตะจาน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน ของทุกปี และจะมีการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ในช่วงนี้ ก่อนจะถือให้วันที่ 17 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้ช่วงเทศกาล “ตะจาน” ชาวเมียนมาจะนิยมเข้าวัดทำบุญตักบาตร ถือศีลปฏิบัติธรรม สรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์
สำหรับกัมพูชา เรียกเทศกาลสงกรานต์ว่า เทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” อาจกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 หรือ 14 ถึง 16 เมษายน ยึดตามประกาศของรัฐบาลกัมพูชา โดยเทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” จะมีความคล้ายคลึงกับเทศกาลสงกรานต์ของไทยที่จะมีการทำบุญตักบาตร ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระพุทธรูป และมีการรวมญาติพี่น้อง เพื่อรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

นอกจากนี้ชาวไทลื้อ ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางใต้ของจีน มีประเพณี “พัวสุ่ยเจี้ย” ที่คล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ แต่จะมีความโดดเด่นตรงที่มีการแข่งขันเรือมังกร และการแสดงระบำนกยูง ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมของชาวยูนนานได้เป็นอย่างดี
เมื่อปี 2566 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทย ให้อยู่ในรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ขณะที่รัฐบาลกัมพูชา เตรียมยื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนเทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” หรือสงกรานต์กัมพูชา ให้เข้าไปอยู่ในรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี 2568 และคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการในปี 2569 ด้วย.-สำนักข่าวไทย