ยูนนาน 21 ม.ค.- ปัจจุบันชาวจีนรุ่นใหม่ได้นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมถึงนักพัฒนารุ่นใหม่ที่ใช้ AI เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น
ยูนนานเดลีรายงานว่า เจี่ยง ชิงซง ผู้ช่วยนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ต้องทำงานร่วมกับผู้ช่วยวิจัยเกือบทุกวัน เขาจะป้อนคำถามหรือคำสำคัญแล้ว AI ของเขาซึ่งเป็น WaterScholar (ผู้ช่วยวิจัยวรรณกรรมวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางน้ำ) จะทำงานอย่างรวดเร็วและสรุปผลอันล้ำสมัยให้อย่างแม่นยำ
ปัญญาประดิษฐ์โมเดลใหญ่เข้าสู่ปีแรกของการเติบโตแบบก้าวกระโดด หลังจากความพยายามมาเป็นเวลานาน เมื่อ WaterScholar ที่อ่านงานวิจัยที่คัดสรรแล้วกว่า 3 ล้านบทความถือกำเนิดขึ้นในปี 2566
เจี่ยงทำงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการมลพิษทางน้ำมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว สาขาวิจัยนี้กว้างขวางและซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับการบูรณาการหลายสาขาวิชา และมีเอกสารที่เกี่ยวข้องมากกว่า 15 ล้านบทความและเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งล้านบทความทุกปี เขากล่าวถึง “ผู้ช่วยAI” ว่า เหมือนกับมนุษย์ที่มีความสามารถในการอ่าน คิด สรุป และแสดงออก ช่วยให้เขาจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีเวลามากขึ้นในการคิดและสำรวจการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย
ด้านเถียน เหวินโป๋ นักศึกษาปีที่ 4 คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเว่ยหนานนอร์มอลในมณฑลส่านซีเล่าว่า ความฝันด้านกีฬาของเขาที่ถูกขัดจังหวะได้กลายเป็นจริงอีกครั้งเพราะ AI เขาชื่นชอบกีฬามาตั้งแต่เด็กและเคยเป็นนักกรีฑาของโรงเรียนในช่วงมัธยมต้น แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดบางประการ เขาจึงไม่สามารถประกอบอาชีพนักกีฬาได้ นักศึกษากีฬาทั่วไปมักประสบปัญหาทรัพยากรการฝึกอบรมที่จำกัด การขาดคำแนะนำจากโค้ชมืออาชีพ หรือท่าทางการฝึกที่ไม่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บก่อนวัยอันควร
เถียน เหวินโป๋ ผู้เรียนเอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยด้านกีฬา และได้เรียนรู้ว่าทีมชาติจีนกำลังใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนทางเทคนิคของนักกีฬาและจัดทำแผนการฝึกอบรมที่ตรงเป้าหมายเขาจึงเกิดแนวคิดที่จะสร้าง “โค้ชส่วนตัว AI” ที่สะดวกสำหรับการฝึกอบรมทั่วไป เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากสามารถรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้ทุกเวลา
หลังจากเปิดตัวซอฟต์แวร์โค้ชส่วนตัว AI แล้ว ก็ได้รับความสนใจและคำชมมากมายจากวงการกีฬา มีนักกีฬาที่ใช้โค้ชส่วนตัว AI เพื่อฝึกฝนปรับปรุงอย่างมีเป้าหมายเป็นเวลา 1 สัปดาห์และสามารถทำเวลาในการวิ่ง 100 เมตรจากเดิม 13.7 วินาทีลดลงเหลือเพียง12 วินาที
ปัญญาประดิษฐ์โมเดลใหญ่ยังเชื่อมต่อกับความฝันของผู้พิการทางสายตาที่อยากจะ “มองเห็น” โลก โจว เจียงหนาน ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีให้ดวงตาสว่างเซินเจิ้น จำกัด ได้ใช้ชีวิตกิน นอน และเดินทางร่วมกับเพื่อนผู้พิการทางสายตาจำนวน 7 คน เป็นเวลากว่า 100 วัน ในปี 2560 โดยพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้นถึงอุปสรรคที่เพื่อนผู้พิการทางสายตาต้องเผชิญในชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวัน
หนึ่งปีต่อมา เขาได้ชวนเพื่อนสมัยประถม เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย วิศวกรตาบอด และคนอื่น ๆ ร่วมกันก่อตั้งทีมสตาร์ทอัพ พัฒนา “ตาสว่าง” เป็นแอปเพล็ตและแอปพลิเคชันที่สามารถถ่ายภาพและระบุตำแหน่งของผู้พิการทางสายตา รวมถึงอธิบายสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ราวกับได้ใช้ตาดูโลกจริง ๆ ผู้ใช้งานคนหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์การใช้แอปในการรับประทานยาว่า เสียงในแอปช่วยบอกว่าเป็นยาอะไร ต้องกินกี่เม็ด และรักษาโรคอะไรได้บ้าง สำหรับเธอแล้ว การที่โทรศัพท์สามารถพูดได้ เป็นเรื่องสำคัญมาก.-814.-สำนักข่าวไทย