11 กรกฎาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลน่าสงสัย :
มีข้อมูลน่าสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ เมื่อมีการอ้างว่าการมาถึงของ A.I. จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลง เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลืองอย่างมาก
บทสรุป :
1.การใช้ A.I. หาคำตอบสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำอย่างมาก
2.แต่การพัฒนา A.I. สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

การสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า
เมื่อเดือนเมษายน 2025 แซม อัลต์แมน ซีอีโอของบริษัท OpenAI เจ้าของ ChatGPT เปิดเผยว่า การที่ผู้ใช้ ChatGPT ลงท้ายบทสนทนาด้วยคำว่า ได้โปรด หรือ ขอบคุณ (Please หรือ Thank You) เพื่อแสดงการขอบใจต่อ Chatbot แม้จะเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่ส่งผลต่อการทำงานของ A.I. แต่กลับเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าในการประมวลผลอย่างไม่จำเป็นให้กับ A.I. คิดเป็นมูลค่าถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
OpenAI เปิดเผยว่า ในระหว่างการฝึกสอน GPT-3 model ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 1,287 MWh เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับบ้านชาวอเมริกัน 120 หลังตลอดทั้งปี
รายงานปี 2024 ของ Google พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 2023 ที่ 48% เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
รายงานปี 2024 ของ Microsoft พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 2023 ที่ 29.1% เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน
การประเมินจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) คาดว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับศูนย์ Data Center การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และกิจกรรมเกี่ยวกับ Cryptocurrency ในปี 2026 จะเพิ่มมากกว่าปี 2022 ถึง 2 เท่า และจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ
การสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ
ในการทำงานของ A.I. จำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการลดอุณหภูมิเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ที่อยู่ในศูนย์ Data Center
งานวิจัยปี 2023 ของ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์ พบว่าในการตอบคำถาม 10-50 ครั้ง GPT-3 Model ของ ChatGPT จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตรในการลดความร้อนให้กับเซิร์ฟเวอร์
ยิ่ง A.I. Model มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้น้ำมากขึ้น
งานวิจัยปี 2024 พบว่า GPT-4 Model ของ ChatGPT ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2023 ต้องใช้น้ำถึง 3 ลิตรสำหรับการเขียนอีเมลจำนวน 120-200 คำ
มีการประเมินว่า การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปี 2027 นำไปสู่การสิ้นเปลืองน้ำถึง 4.2-6.6 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณการใช้น้ำของประเทศเดนมาร์กทั้งประเทศถึง 4-6 เท่า
A.I. อาจใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าแรงงานมนุษย์
งานวิจัยปี 2024 ทางวารสาร Scientific Reports พบว่าการใช้ A.I. ผลิตผลงานบทความและรูปภาพ ปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนน้อยกว่าการใช้แรงงานคน
แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ย้ำว่า งานวิจัยไม่ได้ประเมินปัจจัยด้านคุณภาพงานเขียนระหว่าง A.I. และมนุษย์ หากคุณภาพงานเขียนของ A.I. ไม่ได้มาตรฐาน แล้วจำเป็นต้องมีการแก้คำสั่งใหม่ อาจทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ประโยชน์ของ A.I. ต่อสิ่งแวดล้อม
แม้จะใช้พลังงานในการประมวลผลสูง แต่การมาถึงของ A.I. สามารถช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และป้องกันการปล่อยมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เช่น การช่วยให้การใช้พลังงานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดการใช้พลังงานในสำนักงานได้ดีขึ้น และช่วยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ตรวจจับการปล่อยสารมีเทนในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน
ขณะที่การเข้าสู่ยุค AGI (Artificial General Intelligence) จะทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลืองมากกว่า A.I. ในปัจจุบัน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการออกแบบ ปัจจุบันผู้ผลิตเน้นการสร้าง A.I. ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หากอนาคตการพัฒนา A.I. เน้นไปที่อรรถประโยชน์โดยรวม เช่น ความแม่นยำของผลลัพธ์และการใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า การมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่คาดการณ์ในปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.snopes.com/news/2025/01/27/climate-change-ai/
https://earth.org/the-bigger-picture-of-climate-change-and-ai/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter