ฮิโรชิมะ 19 พ.ค.- รัฐบาลญี่ปุ่นแจ้งว่า ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี 7 (G7) ได้ไปพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะพร้อมกันเป็นครั้งแรก และแสดงความมุ่งมั่นเรื่องทำให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์
ผู้นำจี 7 ซึ่งมีมหาอำนาจนิวเคลียร์รวมอยู่ด้วย 3 ประเทศคือสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อเริ่มต้นการประชุมสุดยอดเป็นเวลา 3 วันที่เมืองฮิโรชิมะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองแรกของโลกที่ถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพและ ส.ส. ฮิโรชิมะได้จัดให้การปลดนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมสุดยอด เขาย้ำว่า ผู้นำจี 7 ควรได้พิจารณาอย่างใกล้ชิดถึงความจริงที่เกิดจากการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ จึงจะสามารถเริ่มต้นความพยายามปลดนิวเคลียร์ได้
นายกรัฐมนตรีคิชิดะและนางยูโกะ ภริยา ยืนต้อนรับผู้นำจี 7 ที่เดินทางมาถึงสวนสันติภาพทีละประเทศ บางคนมาพร้อมกับคู่สมรส และได้เดินไปตามพรมแดงที่ทอดยาวไปยังทางเข้าพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ใกล้กัน รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้อธิบายเรื่องข้าวของของผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประมาณ 100,000 ชิ้น คณะผู้นำได้สนทนากับชายวัย 85 ปีที่รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกทิ้งในเมืองนี้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 และใช้เวลาในพิพิธภัณฑ์นานถึง 40 นาที จากนั้นจึงเดินไปยังอนุสาวรีย์ระลึกถึงผู้เสียชีวิตและวางหรีดแสดงความอาลัย กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า จี 7 ได้แสดงความมุ่งมั่นเรื่องการทำให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์และย้ำจุดยืนเรื่องไม่สามารถยอมรับได้หากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์
นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจี 7 เดินทางมายังพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะพร้อมกัน บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้นเคยเดินทางมาในปี 2559 โดยได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สวนสันติภาพ พบกับตัวแทนผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ราว 10 นาที ขณะที่นายคิชิดะในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเคยพารัฐมนตรีต่างประเทศจี 7 มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในโอกาสที่เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจี 7 ที่เมืองฮิโรชิมะในปี 2559 และมีการวางหรีดไว้อาลัยผู้เสียชีวิตด้วย สหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกที่เมืองฮิโรชิมะในวันที่ 6 สิงหาคม 2488 จากนั้นทิ้งลูกที่ 2 ที่เมืองนางาซากิในวันที่ 9 สิงหาคม ประมาณกันว่ามีพลเรือนเสียชีวิตรวมกันมากถึง 210,000 คน จากนั้นญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม เป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2.-สำนักข่าวไทย