เจนีวา 16 พ.ย. – ผลวิจัยขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีประชากรอายุน้อยราว 1,000 ล้านคนทั่วโลกอาจเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยินจากการสวมหูฟัง หรืออยู่ในงานคอนเสิร์ตที่มีเสียงดัง
ผลวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกและได้รับการตีพิมพ์ใน ‘บีเอ็มเจ โกลบอล เฮลท์’ วารสารการแพทย์ของอังกฤษ ระบุว่า ประชากรอายุน้อยราว 1,000 ล้านคนทั่วโลกอาจเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยินจากการสวมหูฟัง หรืออยู่ในงานคอนเสิร์ตที่มีเสียงดัง พร้อมทั้งเตือนให้ประชากรอายุน้อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หูฟัง รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ผลิตหูฟังทั่วโลกหาทางป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยินในอนาคต
ผลวิจัยดังกล่าวเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงาน 33 ชิ้นที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และรัสเซีย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมกว่า 19,000 คน และทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 12-34 ปี ผลวิจัยพบว่า มีคนอายุน้อยร้อยละ 24 ที่มีพฤติกรรมใช้หูฟังที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น สมาร์ตโฟน อย่างไม่ปลอดภัย และร้อยละ 48 ที่ได้รับอันตรายจากระดับเสียงที่ไม่ปลอดภัยในสถานบันเทิง เช่น คอนเสิร์ตหรือไนต์คลับ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดทำให้คาดว่า มีประชากรอายุน้อยราว 670,000 คน ถึง 1,350 ล้านคน อาจเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยิน
ดร. ลอเรน ดิลลาร์ด นักโสตสัมผัสวิทยาของมหาวิทยาลัยการแพทย์รัฐเซาท์แคโรไลนา และเป็นผู้เขียนงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นคนแรก เผยว่า การที่จำนวนประชากรอายุน้อยที่เสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยินมีช่วงที่กว้างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางคนมีความเสี่ยงทั้ง 2 อย่าง ทั้งจากการใช้หูฟังและการอยู่ในสถานบันเทิงที่มีเสียงดัง พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ใช้งานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หูฟังเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยินด้วยการลดความดังเสียงและลดเวลาในการสวมหูฟัง นอกจากนี้ ประชากรกลุ่มนี้ควรสวมที่อุดหูเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง เช่น คอนเสิร์ตหรือไนต์คลับ เพื่อป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยินที่อาจเกิดขึ้นได้อนาคต.-สำนักข่าวไทย