กรุงเทพฯ 5 ส.ค.- บอร์ด กกพ. เลื่อนแถลงข่าวค่าไฟฟ้า Ft รอบใหม่ อย่างไม่มีกำหนด โดยอัตราใหม่ขึ้นอีก 68.66 สตางค์/หน่วย คาดรอมาตรการรัฐช่วยเหลือประชาชน
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สั่งสำนักงาน กกพ. เลื่อนการแถลงชี้แจงค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟทีงวดประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 จากเดิมนัดหมายชี้แจงในช่วงเช้านี้โดยไม่แจ้งสาเหตุ นับเป็นการเลื่อนการชี้แจงเป็นครั้งที่ 2 จากเดิมมีกำหนดการชี้แจงครั้งแรก 1 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้เลื่อนชี้แจงแต่ค่าไฟฟ้าเอฟที ก็มีการประกาศอัตราใหม่เรียบร้อยแล้วตามมติบอร์ด กกพ. 27ก.ค. 65 และ 3 การไฟฟ้าได้ออกประกาศให้ผู้บริโภครับทราบแล้วโดยอัตราเอฟทีงวดใหม่ คือ 93.43 สตางค์/หน่วย ขึ้นจากงวดปัจจุบัน 68.66 สตางค์/หน่วย และเมื่อรวมค่าไฟฐานเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสูงสุด (นิวไฮ) ของค่าไฟฟ้าประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเรื่องค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นสร้างผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการทุกภาคส่วนรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้เรียกบอร์ด กกพ.หารือเดิมให้ชะลอการขึ้น Ft แต่ กกพ. ชี้แจงการประกาศขึ้นเป็นไปตามกฏหมายต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือนเลื่อนไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาทางช่วยลดผลกระทบประชาขนในหลากหลายรูปแบบและยังไม่ได้ข้อสรุปจึงน่าจะเป็นที่มาของการเลื่อนการชี้แจงค่า Ft
สำหรับค่า Ft ที่แท้จริงจะสูงกว่าอัตราประกาศ แต่จากแนวโน้มสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กกพ. จึงได้พิจารณาลดผลกระทบต่อประชาชน และทยอยปรับค่า Ft ดังกล่าว และยังไม่มีการขำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไปก่อนราว 1 แสนล้านบาท
สำหรัยผลการคำนวณประมาณการค่า Ft ที่แท้จริง ประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 65คือ 236.97 สตางค์/หน่วยเพิ่มขึ้นจากค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า ประจำเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม (24.77 สตางค์/หน่วย) จำนวน 212.20 สตางค์/หน่วย โดยที่ Ft = FAC + AF. คือ 236.97=93.43+143.54 สตางค์/หน่วย
1. FAC คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากฐาน (ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ค่าซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ เท่ากับ 93.43 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้นจากรอบที่ผ่านมา 25.93 สตางค์/หน่วย
สาเหตุหลักเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจากงวดที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่ำกว่าประมาณการณ์
2. AF คือ ค่าสะสมของผลแตกต่างระหว่างค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงกับค่าที่เรียกเก็บในรอบที่ผ่านมา (กันยายน – ธันวาคม 64 และ มกราคม – เมษายน 65) และนำมาใช้ปรับปรุงค่า Ft ในรอบนี้
ทั้งนี้ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่มองว่าโฆษก กกพ. นัดแถลงการปรับขึ้น Ft 68.66 สตางค์ ส่งผลค่าไฟขึ้นรวมเป็น 4.72 บาท/หน่วย เป็นบวกต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า ทั้งเชื้อเพลิง เช่น GPSC, BRIM และ Renewable ที่มีโรงไฟฟ้าในระบบ Adder (อัตรารับซื้อไฟฟ้าขึ้นตาม Ft) เช่น BPCG, SPCG, EA, GUNKUL .-สำนักข่าวไทย