นนทบุรี 5 ก.ค.-สนค.เผยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 65 ยังสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 7.66 แต่เป็นการสูงขึ้นชะลอตัวลงต่ำกว่าหลายสำนักคาดการณ์ ชี้เงินเฟ้อครึ่งหลังยังมีโอกาสสูงตามปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งพลังงาน อาหารโลกสูงแต่ยังไม่ปรับเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 4.5
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อ) เดือนมิถุนายน 65 เท่ากับ 107.58 (ปี 2562 เท่ากับ 100) อยู่ที่ร้อยละ 7.66 สูงขึ้นรอบ 13 ปีเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคม 65 ซึ่งอยู่ทีร้อยละ 7.11 ถือว่าอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในระดับชะลอตัวลง และหากดูเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 65 อัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.61 โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ที่ภาครัฐมีการขยายเพดานการตรึงราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนยังค่อนข้างต่ำ มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัว ส่วนสินค้าอื่น ๆ อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดและของใช้ส่วนบุคคล ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน และการสื่อสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ เป็นไปในทิศทางประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และในแถบยุโรปที่เงินเฟ้อสูงขึ้นค่อนข้างมาก ยังคงมาจาก อุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น แต่หากดูตัวเลขในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น สนค.ยังไม่ประเมินหรือปรับอัตราเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ จากเดิมคาดการณ์เงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 แต่ด้วยหลายปัจจัยที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นเหตุสงคราม 2 ประเทศ ส่งผลให้พลังงานและอาหารสูงขึ้น และต้องติดตามสหรัฐเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า และที่น่ากังวลปัญหาโควิดที่มีท่าทีจะกลับมาอีก เป็นผลที่ต้องติดตามและเป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทั้งสิ้น
ทั้งนี้ หากดูรายละเอียดการเคลื่อนไหว สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 65 ขยับสูงขึ้น แม้จะมีหลายปัจจัยซึ่งหากดูในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 6.42 ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 12.98 (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 5.38 (ไข่ไก่ นมผง นมสด) กลุ่มผักสดสูงขึ้นร้อยละ 1.53 (พริกสด หัวหอมแดง ต้นหอม) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 11.48 (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.55 (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) น้ำปั่นผลไม้/ผัก) กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 7.28 (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) กลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 6.54 (อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง))
ขณะที่ กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 2.73 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า) กลุ่มผลไม้สด ลดลงร้อยละ 2.53 (เงาะ มังคุด ลองกอง) หมวดสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 8.49 ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 14.75 (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ) หมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ 6.79 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.25 (บุหรี่ เบียร์ สุรา) หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.94 (ยาสีฟัน แชมพู สบู่ถูตัว) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.11 (เครื่องถวายพระ ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ อาหารสัตว์เลี้ยง) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (เสื้อยกทรง เครื่องแบบนักเรียน)
นอกจากนี้ สนค.มองว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 65 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.46 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.18 และเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 5.61 โดยยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 65 ยังอยู่ในอัตราที่สูงขึ้น แต่ก็จะไม่สูงไปมากกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์เอาไว้ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย