กรงเทพฯ 19 มิ.ย. – เหยื่อบุฟเฟ่ต์แซลมอนเจ้าดังตบเท้าเข้าพบทนาย หลังโดนหลอกขายคูปองราคาถูก แต่กลับปิดร้านหนี แถมเพจเฟซบุ๊กปลิวหาย ติดต่อเจ้าของไม่ได้ ด้านผู้จัดการร้านยันพนักงานและเจ้าของแฟรนไชส์ไม่รู้เรื่อง ขณะที่ สคบ.แนะผู้เสียหายเก็บหลักฐาน-แจ้งสายด่วน 1166
เมื่อลูกค้าหลายรายที่ซื้อ Voucher หรือคูปองร้านบุฟเฟ่ต์ดังซึ่งมีอยู่ 27 สาขา ในห้างดังต่าง ๆ จะเข้าไปใช้บริการแต่กลับพบว่าร้านปิด โดยมีกระดาษพิมพ์ข้อความแปะประตูร้านว่า “ปรับปรุงระบบ” หลายคนได้สอบถามและพูดคุยในกลุ่มเฟซบุ๊กจนทราบว่าร้านดังกล่าวทุกสาขาปิดร้านโดยไม่มีกำหนด และไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แม้กระทั่งพนักงาน สร้างความเสียหายทั้งลูกค้าที่ซื้อ Voucher นักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดสาขา รวมถึงพนักงานเกือบ 300 คน ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับเงินเดือนหรือไม่
วันนี้กลุ่มผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อ Voucher ล่วงหน้าจากร้านดังกล่าว จำนวน 10 คน จากทั้งหมดกว่า 6,000 คน โดยมีทั้งผู้ที่ซื้อไว้เพื่อไปกินเอง และซื้อเพื่อนำไปขายต่อทำกำไร นำหลักฐานการซื้อและสลิปโอนเงินเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากนายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ ที่ จ.นนทบุรี
หนึ่งในผู้เสียหายคือ น.ส.เจน บอกว่าตนเองเป็นทั้งลูกค้าและเป็นผู้จำหน่ายคูปองให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจนี้ทำกำไรได้ จึงนำเงินของครอบครัวไปลงทุนซื้อคูปอง Voucher จำนวน 2,628 ใบ ราคาใบละ 212.93 บาท รวมเป็นเงิน 559,380 บาท เพื่อขายให้กับลูกค้าในเพจของตน ราคาใบละ 240 บาท ได้กำไร 27 บาทต่อใบ แต่หากลูกค้าโดยตรงกับทางร้านจะต้องจ่ายในราคาใบละ 299 บาท ตนทำธุรกิจนี้มาแล้วกว่า 2 ปี กระทั่งทราบว่าร้านปิดทุกสาขา จึงติดต่อไปหาลูกค้าที่ซื้อ Voucher จากตนเองไป เพื่อโอนเงินคืนให้ ซึ่งตนโอนเงินคืนไปแล้ว 40 ราย และได้สอบถามผู้จัดการร้าน ทราบว่าเจ้าของบริษัทเป็นหนี้สินหลายทาง ทั้งค่าปลาแซลมอน ค่าเช่าร้าน
ส่วนนายปรัชญิล บอกว่า ตนเองเป็นลูกค้าประจำของร้านนี้ คอยติดตามโปรโมชันเพื่อซื้อคูปองหลายครั้ง ล่าสุดทางร้านประกาศขายในราคา 199 บาทต่อใบ แต่มีข้อจำกัดว่าต้องซื้อ 5 ใบ ตนจึงซื้อไว้ 10 ใบ แต่ได้ใช้ไป 6 ใบเท่านั้น
ด้านนายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ เปิดเผยว่า ผู้เสียหายที่เดินทางมาวันนี้มีทั้งลูกค้าที่ซื้อคูปอง และผู้ที่ทำธุรกิจกับร้านบุฟเฟ่ต์ เข้ามาขอคำปรึกษา หาช่องทางกฎหมายเอาผิดกับเจ้าของบริษัท หลังจากพูดคุยกับผู้เสียหายได้แนะนำให้แจ้งความจึงจะสามารถดำเนินคดีได้ โดยเฉพาะคดีแพ่ง สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนคดีอาญาต้องดูที่เจตนาของเจ้าของบริษัทว่าเขามีเจตนาฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ หรือผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ ซึ่งอัตราโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ย้ำว่าผู้เสียหายสามารถแจ้งความได้ที่ Thai Police.com
ผู้จัดการร่ายยาวยันพนักงาน-เจ้าของแฟรนไชส์ไม่รู้เรื่อง
อย่างไรก็ตาม หลังเป็นกระแสดราม่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งระบุว่าตนเองคือหนึ่งในผู้จัดการสาขาของร้านดังกล่าว ยืนยันว่าพนักงานร้านและเจ้าของแฟรนไชส์ไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ จู่ ๆ เจ้าของบริษัทดีดตัวเองออกจากไลน์กลุ่มทั้งหมด ติดต่อไม่ได้ ตนและคนอื่น ๆ เพิ่งทราบเรื่องเช้าวันที่ 17 มิถุนายน ที่เจ้าของบริษัทออกจากกลุ่มไลน์ทั้งหมด ไม่มีใครติดต่อได้ ทางกลุ่มผู้จัดการจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรต่อ ก่อนจะได้มติว่าปิดให้บริการ 1 วัน เพราะยังมีความหวังว่าจะติดต่อเจ้าของบริษัทได้
คำตอบที่ว่า “ระบบส่วนกลางล่ม” เป็นคำตอบที่คิดขึ้นได้ในขณะนั้นที่ทางลูกค้ากระหน่ำโทรเข้ามาสอบถาม เพราะไม่รู้ว่าจะให้คำตอบอย่างไรดี ถ้าตอบว่าติดต่อผู้บริหารไม่ได้กลัวจะมีผลต่อหน้าที่การงานในอนาคต ที่ปิดทุกสาขาเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของกลุ่มผู้จัดการ เพราะซัพพลายเออร์ไม่ส่งวัตถุดิบให้ แถมบริษัทยังมีหนี้เก่าค้าง
บริษัทไม่มีทีมบริหาร ไม่มีฝ่ายบุคคล-บัญชี หรือทีมบริหาร การตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของบริษัทแต่เพียงผู้เดียว พอเจ้าของไปก็ล้มทั้งระบบ ผู้จัดการสาขารายนี้ยังแนะนำลูกค้าที่ซื้อคูปองที่กังวลว่าจะถูกฉ้อโกงให้ไปแจ้งความได้เลย ไม่ต้องโทรเข้าสาขา เพราะพนักงานไม่มีคำตอบให้แม้แต่อนาคตของตัวเอง
นอกจากนี้ผู้จัดการสาขายังฝากไปถึงเจ้าของบริษัทที่ตนเองเรียกว่า “บอส” ว่าถ้าบอสได้มาอ่านอยากให้มาแก้ปัญหา เผชิญความจริง เชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออกที่ดีกว่านี้ ตนยังไม่ลืมวิกฤติโควิด-19 รอบแรกที่ได้มาทำงานกับบริษัทนี้ บอสอ้าแขนรับไว้ เป็นเจ้านายที่ดีมาก ๆ ตนรู้ว่าบริษัทไม่ได้มีกำไร บอสพูดเสมอว่าสู้เพื่อลูกน้อง เพื่อให้มีการจ้างงาน จนถึงวันนี้ยังไม่มีความโกรธเกลียด ยังรักเหมือนเดิม
สคบ.แนะผู้เสียหายเก็บหลักฐาน-แจ้งสายด่วน 1166
ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ระบุว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดด้านสัญญาที่ชัดเจน เพราะขาย Voucher แล้วเปิดให้บริการไม่ได้ โดย สคบ. จะเรียกเจ้าของร้านบุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดังมาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อคูปองล่วงหน้า (E-Voucher) ของร้านดังกล่าว ให้เก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ หลักฐานการคุยกันในแอปฯ หรือแชต หากชำระเงินผ่านบัตรเครดิตให้ติดต่อที่ธนาคารเจ้าของบัตร เพื่อขอเงินคืนโดยด่วน หรือร้องเรียนมาที่ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือสายด่วน 1166 (ในวันและเวลาราชการ)
ด้านเจ้าของบริษัท IT Provider ที่ร้านดังกล่าวว่าจ้างให้สร้างและพัฒนาแอปฯ โพสต์ข้อความระบุว่า หลังจากเห็นข่าวหลายช่อง และทาง สคบ. ให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทันที จึงได้ติดต่อสายด่วนไปเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ปิด จึงได้ไปสถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันแล้ว และพร้อมส่งมอบข้อมูลทันที ตอนนี้ร้านดังกล่าวไม่มี E-Voucher แล้ว ตัวเลขคูปองจะโชว์ในแอปฯ หากท่านใด log out จะกลายเป็นศูนย์ หลักฐานจะหายไป และ log in ไม่ได้ เนื่องจากระบบปิดหมด เพราะเกรงคนจะซื้อเพิ่ม และจะมีผู้เสียหายเพิ่มเติม พร้อมเผยรู้สึกตกใจ เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ และยินดีแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีส่วนร่วม พร้อมส่งมอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ สคบ.
เหยื่อบุฟเฟ่ต์ทิพย์ทยอยแจ้งความ
ผู้เสียหายอีกกลุ่ม จำนวน 11 คน ซึ่งอยู่ใน จ.สมุทรปราการ รวมตัวเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.สำโรงเหนือ เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าของแฟรนไชส์ และคนขายแฟรนไชส์ ซึ่งก็คือเจ้าของบริษัท หลังซื้อคูปองออนไลน์ในราคาใบละ 199 บาท คนละหลายใบ แต่ตอนนี้ทุกสาขาปิดหมด ทำให้กังวลว่าคูปองจะสามารถใช้ได้อีกหรือไม่
นางสาวจุฑามาศ อายุ 40 ปี เปิดเผยว่า ตนเองซื้อคูปองผ่านแอปพลิเคชัน ในราคา 199 บาท โดยคูปองมีอายุประมาณ 6 เดือน ผู้เสียหายทุกคนที่เดินทางมาในวันนี้โดนไม่ต่ำกว่าคนละ 5 ใบ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาตนได้โทรไปที่สาขาเพื่อจองคิวเข้าใช้บริการ แต่ติดต่อไม่ได้ โทรไปสาขาอื่น ๆ ก็ไม่มีใครรับโทรศัพท์เช่นกัน ตนเองจึงเข้าไปดูที่เพจเฟซบุ๊กของร้าน พบว่าเพจถูกปิดเช่นกัน จึงรวมตัวกับผู้เสียหายใน จ.สมุทรปราการ มาแจ้งความ
นอกจากที่มาวันนี้ยังมีผู้เสียหายคนอื่น ๆ ในกรุ๊ปไลน์อีกมากกว่า 60 คน พร้อมเผยการแจ้งความวันนี้ไม่ได้หวังเงินคืน แต่อยากเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้บริโภค หลังจากนี้จะรวมตัวนำหลักฐานเข้าไปแจ้งร้องทุกข์ สคบ. อีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย