ทำเนียบ 26 เม.ย.- “วราวุธ” ย้ำปิดถ้ำนาคา 1 เดือน ฟื้นฟูธรรมชาติ ซักซ้อมระบบช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ระบุอุทยานพร้อมรับนักท่องเที่ยวเปิดประเทศ 1 พ.ค.นี้ เน้นมาตรการ สธ. ป้องกันโควิด ห้ามนำพลาสติกเข้าอุทยาน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการปิดถ้ำนาคาเป็นเวลา 1 เดือน เริ่มในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ว่า เป็นไปตามนโยบายที่กระทรวงได้มอบให้ไว้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ว่า อุทยานทั่วประเทศนั้น ใน 1 ปี จะต้องมีการปิดตัวลงอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ได้พักธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่ได้ไปซ่อมแซมพัฒนาปรับปรุงการทำงาน ตั้งระบบต่างๆ ภายในอุทยานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถ้ำนาคาก็เป็นหนึ่งในที่ที่ประชาชนให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ดังนั้นการปิดตัวลง 1 เดือน ก็เป็นไปตามนโยบายของกระทรวง รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่กระทรวง โดยเฉพาะในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวด้วยการลำเลียงทางอากาศหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบ รวมถึงการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในอนาคต
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ในส่วนของอุทยานต่างๆ ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ดูแล ได้กำชับให้ใช้มาตรการเดียวกับในช่วงเทศการสงกรานต์ในการดูแลนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยยังคงเน้นมาตรการด้านสาธารณสุข เว้นระยะห่าง ทำความสะอาด จำกัดนักท่องเที่ยว ใช้ระบบการจองคิวออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงได้ห้ามนำเอาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าอุทยาน จึงขอฝากให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นายวราวุธ ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย และได้พบกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า ไม่ได้คุยเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง แต่พูดคุยถึงสถานการณ์หมอกควันไฟป่า โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากนายยงยุทธเป็นหัวหน้าคณะทำงานวิจัยเรื่องหมอกควันไฟป่าข้ามแดน พร้อมทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่ดูจุดความร้อนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และในการทำงานดังกล่าว ส่งผลให้จุดความร้อนและสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนกรณีการร้องเรียนโครงการแก้มลิง เกาะพระทอง จ.พังงา ที่เป็นปัญหาระหว่างกรมชลประทานและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีการบุกรุกป่าชายเลนและป่าสงวนแห่งชาติ ว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เร่งประสานงาน และดูสาเหตุว่าทำไมไม่มีการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวขอฝากสื่อมวลชนไปยังประชาชนภาคเอกชน ภาครัฐ ว่าจะทำสิ่งไหนในพื้นที่ป่า จะต้องคิดให้ถี่ถ้วน เพราะว่าการตัดไม้เป็นสิ่งที่ง่าย แต่การเจริญเติบโตเป็นเรื่องที่ยาก ยืนยันไม่ใช่ความขัดแย้งทั้งสองกรม แต่มองว่าน่าจะเกิดจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการทำงานมีกฎหมายที่หลายตัว ซึ่งหลายตัวไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องแก้ปัญหา ส่วนตัวเข้าใจหน้าที่กรมชลประทานที่จะดูแลเกษตรกรชาวไร่ชาวนา แต่ขณะเดียวกันกระทรวงทรัพยากรฯ ก็มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นอย่ามองเป็นความขัดแย้งทั้งหมด.- สำนักข่าวไทย