กรุงเทพฯ 3 ก.พ.-หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทย์จุฬาฯ เผยพยาธิปอดหนูในดวงตาคนพบได้ยากแต่อันตราย หากเข้าสู่ระบบประสาท แนะกินอาหารปรุงสุก หากไม่มั่นใจรีบพบแพทย์รักษา
ศ.ดร.นพ.เผด็จ สิริยะเสถียร หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลกรณีพบโรคพยาธิปอดหนูในดวงตาของผู้ป่วยว่า โอกาสที่พยาธิจะเข้าไปสู่ดวงตาของคนพบได้ไม่มาก เนื่องจากปกติแล้ว เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายของคน มักจะเข้าไปที่ระบบประสาทส่วนกลาง หรือไขสันหลัง ซึ่งวงชีวิตของพยาธิชนิดนี้มักพบในหนู เมื่อตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปสู่หนู จะเข้าไปที่ระบบประสาท และย้ายไปที่ปอด จากนั้นเมื่อโตเต็มวัยจะผสมพันธุ์และออกไข่ ซึ่งไข่ของพยาธิอาจปะปนมากับมูลของหนู เมื่อสัตว์อื่น เช่น หอย กุ้ง หรือสัตว์เลื้อยคลาน รับตัวอ่อนของพยาธิเข้าไป และคนนำไปรับประทานก็อาจจะได้รับพยาธิด้วยเช่นกัน ซึ่งมีพยาธิหลายชนิดสามารถเคลื่อนที่ไปสู่ดวงตาของคนได้ ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนที่ไปแบบไม่มีทิศทาง ที่ผ่านมาก็เคยพบพยาธิตัวจี๊ดในดวงตาคน หรือพยาธิตัวตืด ในดวงตาของคนมาแล้ว ซึ่งทุกส่วนของร่างกายมีโอกาสที่พยาธิจะไปฝังตัวได้ทั้งหมด แม้ว่าปกติแล้วดวงตาไม่ใช่เป้าหมายของพยาธิ แต่ก็สามารถเคลื่อนที่เข้าไปได้ แต่ส่วนที่เป็นอันตรายมากที่สุด คือ ส่วนสมอง และระบบประสาท อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หรือหากพยาธิไปอุดและฝังตัวในอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ก็อาจเป็นอันตรายได้ ที่ผ่านมาการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากพยาธิโดยตรงมีไม่มาก แต่มักเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของพยาธิ เช่น เป็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการพบพยาธิใบไม้ตับในร่างกายเป็นเวลานาน
ศ.ดร.นพ.เผด็จ ระบุว่า พยาธิสามารถจำแนกได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.พยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวจี๊ด พยาธิปากขอ กลุ่มที่ 2 พยาธิใบไม้ เช่น พยาธิใบไม้ตับ และกลุ่มที่ 3 พยาธิตัวตืด เช่น พยาธิตืดวัว พยาธิตืดหมู ซึ่งหากได้รับไขของมัน ตัวอ่อนสามารถจะกระจายไปฝังตัวทั่วรางกายได้ บางครั้งพบว่าเข้าไปฝังตัวในระบบประสาท หรือที่เรียกว่า เม็ดสาคู สาเหตุที่คนไทยป่วยเป็นโรคพยาธิขึ้นอยู่กับภูมิภาค และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชอบรับประทานอาหารปลาน้ำจืดที่ปรุงไม่สุก ก็พบพยาธิใบไม้ตับจำนวนมาก ส่วนภาคใต้ ภาคเหนือ ซึ่งมีอากาศชื้น มักพบพยาธิปากขอ ในร่างกายจำนวนมาก หรือคนที่ชอบรับประทานผักสดซึ่งอาจมีไข่พยาธิปะปนอยู่ ก็จะได้รับพยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า เข้าไปในร่างกายได้ ส่วนคนที่รับประทานอาหารทะเลดิบ ก็อาจมีความเสี่ยงพยาธิอีกกลุ่ม ที่เรียกว่า พยาธิอะนิซาคิส หากเป็นอาหารทะเลแช่แข็ง-80 องศา มาช่วงเวลาหนึ่ง ตัวอ่อนพยาธิก็จะตายไป แต่สำหรับพยาธิชนิดนี้ในไทยยังพบไม่มาก
ศ.ดร.นพ.เผด็จ บอกด้วยว่า พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง หลักๆ คือ ทางปาก มักปะปนกับอาหารที่ปรุงไม่สุก และยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง ซึ่งสามารถป้องกันได้ ด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุก เดินใส่รองเท้าเพื่อป้องกันพยาธิจากพื้นดินเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงการขับถ่ายลงพื้นดิน ควรขับถ่ายในห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากพยาธิสามารถเติบโตได้ตามพื้นดิน ซึ่งอาจติดต่อไปสู่คนอื่นได้ หากใครกังวลว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปจะมีพยาธิปะปนมา สามารถพบแพทย์เพื่อรักษาได้ หากเป็นพยาธิในลำไส้ จะใช้การตรวจหาในห้องปฏิบัติการจากอุจจาระ ส่วนกรณีที่พยาธิเคลื่อนตัวไปตามอวัยวะอื่นๆในร่างกาย สามารถตรวจเลือดเพื่อดูว่า ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อพยาธิบางชนิดหรือไม่ โดยผู้ป่วยจะต้องบอกประวัติให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วนโดยเฉพาะอาหารที่รับประทานอาหารเข้าไป ซึ่งหากตรวจพบเร็วก็สามารถให้ยารักษาได้ทัน .– สำนักข่าวไทย