กรุงเทพฯ 12 ม.ค. – รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เผยกำลังประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมโรค ASF ให้เป็นไปตามพ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ โดยสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์โรค ทั้งการจำกัดการเคลื่อนย้าย การทำลาย และการชดเชย
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กำลังเร่งประชุมเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตามที่พบเชื้อไวรัสก่อโรคจากการตรวจตัวอย่างที่เก็บจากพื้นผิวสัมผัสที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม โดยขณะนี้กำลังขยายผลตรวจสอบฟาร์มและโรงฆ่าทั่วประเทศตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะสุ่มเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกรที่ฟาร์ม (blood sampling) และบนพื้นผิวสัมผัส (surface swab) แล้วส่งตรวจหาโรคส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ หากพบโรค ทางปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอจะประกาศเขตโรคระบาดตามพ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ โดยต้องงดการเคลื่อนย้ายสุกรในจุดเกิดโรคและในรัศมี 5 กิโลเมตรจะพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งจะแจ้งในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ยืนยันว่า จะดำเนินการควบคุมโรคอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบ โดยจะไม่ทำลายสุกรในพื้นที่เกิดโรคและพื้นที่ต่อเนื่องทั้งหมด อีกทั้งโรค ASF ไม่ได้เป็นโนคติดต่อเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่คนจึงไม่ต้องทำลายทั้งหมดเหมือนการพบโรคไขเหวัดนกซึ่งติดต่อจากนกสู่คย ย้ำว่า การพิจารณาทำลายจะดูจากเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นโรค ความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาระหว่างฟาร์มที่เป็นโรคและโรงฆ่า โดยจะจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายประเมิน 70% ของราคาตลาด
สำหรับการเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์ในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรคจะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนการขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ พร้อมกันนี้กรมปศุสัตว์จะแจ้งการพบโรคไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบ.-สำนักข่าวไทย