สำนักข่าวไทย 2 ก.ย.–ศูนย์จีโนม รามา แจงโควิดสายพันธุ์มิวที่ WHO เฝ้าระวังเพราะหลบภูมิคุ้มกันได้ แต่ยังไม่พบในไทย สัปดาห์หน้ากรมวิทย์ฯ เตรียมแถลงการตรวจ การสุ่มตรวจหาโควิดในสายพันธุ์ต่างๆ ทั้ง AY, C.1.2 และมิว ย้ำเมื่อผ่อนปรนกิจกรรม นั่งทานอาหารได้ในร้าน ควรนำ ATK มาใช้สุ่มตรวจ เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยและช่วยลดต้นทุนค่าตรวจ หวังในอนาคตชุดตรวจราคาถูกลงตามกลไกตลาด
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยกระดับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (Mu) รหัสพันธุกรรม B.1.621 ให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) ว่า สายพันธุ์มิว ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลอมเบีย เมื่อเดือน ม.ค. 2564 ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISAID พบการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น และมีการถอดรหัสพันธุกรรม พบการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธ์ดังเดิมอู๋ฮั่นค่อนข้างมากถึง 50-60 ตำแหน่ง จึงเป็นปัจจัยทำให้องค์การอนามัยโลกพิจารณายกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตัวที่ 5
หลังจากที่ก่อนหน้ามี 4 สายพันธุ์ที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง คือ อีตา (Eta- B.1.525) ระบาดในหลายประเทศ , ไอโอตา (Iota – B.1.526 ) ระบาดในสหรัฐอเมริกา , แคปปา (Kappa- B.1.617.1) ระบาดในอินเดีย และแลมบ์ดา (Lambda- C.37) ระบาดในเปรู สายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดเป็นกลุ่มสีเหลืองที่ความรุนแรงยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่ต้องระวังหรือ Variants of Concern (VOC) เป็นกลุ่มสีแดงมี 4 ตัวที่ระบาดในขณะนี้ คือ เดลตา, อัลฟา, เบตา และแกมมา พร้อมย้ำสายพันธุ์มิวระบาดอยู่ในประเทศที่ไกลจากบ้านเรา และประเทศในแอบเอเชียก็ยังไม่พบรายงานการระบาด ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าอาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ความกังวลที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมแถลงความคืบหน้า เรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด ในสายพันธุ์กลุ่ม AY ,C.1.2 และสายพันธุ์มิว ล่าสุด แต่ขณะนี้ยังไม่พบทั้งสายพันธุ์ C.1.2 และมิว ในไทย เข้าใจว่าการเผยแพร่ข่าวการพบสายพันธุ์ต่างๆ มาจากการอ่านข่าวข้อมูลจากต่างประเทศ แต่อย่างเพิ่งรีบตกใจ หรือกังวล มาตรการต่างๆ ทั้งสวมหน้ากากอนามัย และการหมั่นล้างมือ และมีระยะห่างยังเป็นกลไกในการป้องกันควบคุมโรคที่ดีที่สุด ส่วนเมื่อมีการผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการให้สามารถดำเนินการได้ เช่น การนั่งรับประทานอาหารในร้าน ขอย้ำว่าการตรวจด้วยชุดทดสอบ ATK สามารถช่วยคัดกรองได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ไวเท่าการตรวจด้วย RT-PCR แต่ก็มีราคาถูกกว่า หากต่อไปในอนาคตราคาของ ATK ถูกลงเรื่อยๆ เรื่องเพียงชุดละ 60 บาท เชื่อว่าการตรวจคัดกรองในระดับบุคคลจะเพิ่มมากขึ้น และเกิดความคุ้มค่ามากกว่า เพราะต้นทุนในการตรวจ RT-PCR สุ่มตรวจ 100,000 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,500 บาทต่อคน รวมค่าใช้จ่ายสูงถึง 150 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย