สธ. 7 ก.ค.-อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยลงนามรับวัคซีนไฟเซอร์บริจาคแล้ว คาดวัคซีนมาเร็วๆ นี้ พร้อมแจงวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพ หลังเมื่อวานเกิดคำถาม ทำไมยังสั่งซื้อซิโนแวค
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีการติดแฮชแท็ก ทวงคืนวัคซีนโมเดอร์นา ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน ว่า วัคซีนชนิด m-RNA มี 2 ตัว คือ โมเดอร์นาและไฟเซอร์ ซึ่งทั้ง 2 ยี่ห้อ มีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงมีความใกล้เคียงกัน โดยล่าสุด ครม.ได้อนุมัติให้กรมควบคุมโรค (คร.) ลงนามในสัญญาซื้อไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส และมีมติให้รับคำแนะนำของอัยการสูงสุดไปเจรจรากับบริษัทไฟเซอร์ ว่าสัญญาส่วนไหนที่จะสามารถปรับปรุงได้บ้าง ซึ่งกรมควบคุมโรคมีการนัดหมายกับไฟเซอร์พรุ่งนี้ และจะลงนามสัญญาภายในสัปดาห์นี้
ส่วนกรณีที่สหรัฐจะมีการบริจาคไฟเซอร์ให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดส มีการลงนามแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (7ก.ค.) จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป โดยวัคซีนจะเข้าสู่ประเทศไทยเร็วๆ นี้
ส่วนกรณีที่มีรายงานประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคป้องกันโรคต่ำที่สุด แต่ทำไมรัฐบาลจึงยังมีมติสั่งซื้อเข้ามาเพิ่ม นพ.โอกาส กล่าวว่า การใช้วัคซีนต้องมอง 2 ส่วน คือเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย ขณะนี้ประเทศไทยมีแผนการสั่งซื้อวัคซีนทั้งซิโนแวค แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ วันนี้มีการทบทวนข้อมูล ก็ต้องชี้แจงว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะมีการตรวจ คือ 1.เจาะเลือดตรวจดูว่าภูมิคุ้มกันขึ้นเป็นตัวเลขเท่าไหร่ 2.การทดสอบในมนุษย์จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง เวลาฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศนั้น จะมีการทดสอบวัดประสิทธิภาพจากการใช้จริงว่าป้องกันโรคได้อย่างไร
ซึ่งทั้ง 3 ตัวที่ประเทศไทยใช้และมีแผนนำมาใช้นั้น ไม่มีตัวใดป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่ บางตัวกันได้ 80%, 90% หรือ 60% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ยืนยันว่าทุกตัวที่เอามาใช้นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ถ้าเทียบกับการไม่ฉีดวัคซีนเลยนั้นสามารถลดการติดเชื้อได้ ซึ่งวัคซีนทั้ง 3 ชนิด องค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองแล้วว่าสามารถลดการป่วยหนัก ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการใช้ไอซียู และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 90%
นพ.โอภาส ยังกล่าวว่า จากการฉีดวัคซีนแอสตราฯ ในไทย กว่า 4 ล้านโดส ยังไม่พบปัญหาลิ่มเลือดอุดตันเหมือนที่พบในต่างประเทศ แต่ต้องติดตามข้อมูลอยู่ สำหรับซิโนแวคเป็นเทคโนโลยีเก่า ผลข้างเคียงน้อยมาก เห็นตรงกันว่าเทียบแล้วปลอดภัยที่สุด ส่วนไฟเซอร์หากติดตามข่าวจะมีข้อกังวลเล็กๆ กรณีที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) พบอุบัติการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในคนหนุ่มอายุน้อยมากขึ้นโดยคาดว่าเกิดจากวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ตัวเมื่อเทียบประสิทธิภาพ อาการข้างเคียง ความปลอดภัยกับประโยชน์และโทษนั้น พบว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า วันนี้ประเทศไทยฉีดแล้ว 11 ล้านโดส ก็จะเร่งดำเนินการฉีดต่อไป .-สำนักข่าวไทย