กรุงเทพฯ 20 มิ.ย.- ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งยกเลิก สนับสนุนวัคซีนโควิดพนักงานไทยเบฟฯ ระบุ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วน ย้ำบริหารจัดการวัคซีนตามลำดับความสำคัญ ยึดแนวทาง ศบค.โดยเคร่งครัด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด โดยใจความในหนังสือระบุว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน ตามเจตนารมณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือ ศบค. / คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย หรือ ศบค.มท. จึงแจ้งทุกจังหวัดทราบและถือปฏิบัติ ดังนี้
1.ยกเลิกโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0230/ว 3464 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ถือปฏิบัติตามโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0230 /ว 3497 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2564 และแนวทางที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด รวมทั้งข้อสั่งการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
- ชี้แจง ทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้กับองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้เกิดความร่วมมือในการจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อเตรียมการกรณีเกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่ง มท 0230/ว 3464 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่ยกเลิกล่าสุดนั้น เป็นกรณีที่เกี่ยวกับคำสั่งให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ซึ่งใจความระบุว่า “ด้วยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคให้กับพนักงาน และครอบครัวพนักงาน” และเมื่อเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนมีคำสั่งยกเลิกในที่สุด
พร้อมเน้นย้ำให้ทุกจังหวัด ยึดแนวทางตามคำสั่ง มท 0230 /ว 3497 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ซึ่งได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหารือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด วางระบบการบริหารการฉีดวัคซีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุม ทั่วถึง ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นไปตามมติ ศบค. และแนวทางที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ รวมทั้งผู้มีอาชีพ/กิจการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ยา / ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว และ ประชาชนทั่วไป
ส่วนกรณีภาครัฐและเอกชน โรงงาน สถานประกอบการ องค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศ/หน่วยงานต่างชาติ ที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ สามารถแจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัด โดยหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเองได้ ซึ่งการบริหารจัดการฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามเป้าหมายและความสำคัญเร่งด่วนที่ ศบค. กำหนดโดยเคร่งครัด.-สำนักข่าวไทย