กรุงเทพฯ 14 เม.ย.-สธ.ยืนยันเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเพียงพอ วอนอย่าเพิ่งเรียกร้องห้องพิเศษ ขอให้นำตัวเข้ามารักษาในระบบก่อนจะดีที่สุด
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า นอกจากเตียงหลักในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ขณะนี้ได้ขยายเตียงรองรับผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม โดยในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาได้ประชุมหารือร่วมกับเครือข่ายทั้งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ
ขณะนี้เตียงที่ใช้รองรับผู้ป่วย ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม Hospitels ไม่รวมโรงพยาบาลสนาม มีอยู่ประมาณ 6,000 เตียง ในความเป็นจริงมีผู้ป่วยนอนจริงๆ ประมาณกว่า 3,000 เตียง มีเตียงว่างอีกประมาณ 2,700 เตียง หลายคนสงสัยว่ามีเตียงว่างทำไมถึงเข้าไปนอนไม่ได้ จึงอยากขออธิบายว่า เตียงที่เหลือสำรองไว้สำหรับคนไข้ไอซียู รับคนไข้ที่มีอาการหนัก ตอนนี้ทุกฝ่ายได้พยายามเพิ่มเตียงให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนที่จัดเพิ่ม hospitels อีกกว่า 3,000 เตียง ตอนนี้มีผู้ป่วยที่เข้าไปอยู่ใน Hospitels 900-1,000 กว่าราย
ขณะที่ทางด้านกระทรวงกลาโหม ได้มีการประสานสั่งการให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมเร่งดำเนินการเตรียมโรงพยาบาลสนามในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ ขณะที่กรมการแพทย์เตรียมเปิด Hospitels เพิ่ม คาดว่ารับได้ 450 เตียง โดยจะเปิดได้ภายในอีก 2 วัน ส่วนโรงพยาบาลรามาธิบดี เตรียมเปิด Hospitels อีก 2 แห่ง รวม 100 เตียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้พื้นที่บริเวณหอพักได้อีก 470 เตียง กทม.เพิ่มโรงพยาบาลสนามที่บางขุนเทียน อีก 500 เตียง, สนามกีฬาบางบอน 200-300 เตียง และในสัปดาห์หน้าจะใช้พื้นที่ บางกอก อารีนา ที่หนองจอง ทำเตียงสนามอีก 1,000 เตียง
โดยทางโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วย จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ป่วยว่ามีอาการหนักหรือไม่ เพื่อจะได้ประเมินส่งไปรักษาตามศักยภาพของโรงพยาบาลในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม ยืนยันว่าเตียงมีพอ มีการบริหารจัดการที่ดี แต่สิ่งสำคัญ ก็คือ ประชาชนที่ไปตรวจโรคที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วพบว่าเป็นผลบวก แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจทำให้การบริหารจัดอาจมีปัญหา ต้องรอเตียง รอห้องนาน บางราย 2-3 วันยังไม่ได้ จึงอยากแจ้งช่องทางในการติดต่อของภาครัฐในการประสานจัดหาเตียง หรือห้องเพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที โดยสามารถติดต่อได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังนี้ 1330 สายด่วน สปสช. ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง 1668 สายด่วนกรมการแพทย์ จะรับเรื่องเพื่อบริหารจัดการหาที่พักรักษาให้ และอีกหมายเลขคือ 1669 จะมี กทม.ช่วยบริหารจัดการส่งต่อให้
ตอนนี้อยากจะฝากไปยังประชาชนที่ป่วยว่าอย่าเพิ่งระบุหรือขอห้องพิเศษ เพราะการบริหารจัดการไม่ใช่เรื่องง่ายในเวลานี้ ส่วนใหญ่ที่ยังพอมีว่างจะเป็นห้องรวม แต่ขอให้มั่นใจ และแน่ใจว่ามาตรฐานในการดูแลรักษานั้นไม่ได้ต่างจากห้องพิเศษ หรือห้องเดี่ยวอย่างแน่นอน อย่างน้อยขอให้เอาตัวเข้ามารักษาในระบบโรงพยาบาลก่อนดีกว่าเลือกนอนอยู่ที่บ้าน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยง ทั้งนี้หากมีห้องพิเศษ ก็จะประสานขยับขยายให้แน่นอน พร้อมให้ความมั่นใจว่าการรักษาไม่ว่าท่านจะอยู่ในระบบการรักษารูปแบบใด ทางกระทรวงจะรักษาให้ฟรีทุกรายอย่างแน่นอน. -สำนักข่าวไทย