รพ.จุฬาฯ 18 ก.พ.- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ในอาสาสมัคร ปลายเดือน เม.ย. หรือต้นเดือน พ.ค. หลังทดสอบในลิงเมื่อปีที่แล้วสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ขณะที่ “อนุทิน” ลุ้นอยากให้สำเร็จ จะได้ลดการพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” และความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัคร โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด ChulaCov19 ถือเป็นความหวังของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะต้องการจะให้การพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 เพิ่มความมั่นคงของระบบสาธารณสุขของไทยและลดการพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ โดยระหว่างที่รอการพัฒนาวัคซีนในไทย กระทรวงสาธารณสุขก็มีการจัดหาวัคซีน จากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก็คิดว่าน่าจะเพียงพอต่อประชากรในประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ตนเองให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีน ไม่ได้เหมือนอย่างที่ถูกอภิปรายโจมตีเมื่อวานนี้
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ เปิดเผยว่า หลังจากมีการนำวัคซีน ChulaCov19 ทดสอบวัคซีนในลิงเข็มที่ 2 ลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง สุขภาพดี ทำให้มีความพร้อมจะเดินหน้าทดสอบวัคซีนในอาสาสมัคร โดยขณะนี้โรงพยาบาลและศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ เพื่อรองรับการทดสอบในอาสาสมัครอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มั่นใจในความปลอดภัยของการทดสอบฉีดวัคซีนครั้งนี้ โดยการทดสอบคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเฟสแรกทดสอบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 72 คน และเฟส 2 ทดสอบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยมหิดล 300-600 คน
ศ.นพ.เกียรติ อธิบายว่า วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดเชื้อ และเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัส และกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน โดยหลังจากฉีดไม่กี่วัน mRNA นี้ จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกาย
ทั้งนี้ จากการทดลองพบว่าวัคซีน ChulaCov19 ป้องกันโควิด-19 และลดจำนวนเชื้อในหนูทดลองที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ วัคซีนสามารถเก็บในอุณหภูมิในตู้เย็นอุณหภูมิปกติ 2-8 องศาเซลเซียลได้อย่างน้อย 1 เดือน ในอนาคตเตรียมพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลอง รองรับเชื้อวัคซีนดื้อยาในอนาคต.- สำนักข่าวไทย