กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำงานของ “พิรงรอง” พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ โดยมีนักวิชาการและตัวแทนสื่อร่วมแสดงความคิดเห็น หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินจำคุก กรณีที่ กสทช.มีหนังสือแจ้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มิให้นำช่องรายการไปให้บริการบนแพลตฟอร์ม True ID
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ โดยเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชันอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดเป็นโจทย์ฟ้องจำเลยคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์วานนี้ (6 ก.พ.) กรณีที่ กสทช. มีหนังสือแจ้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มิให้นำช่องรายการไปให้บริการบนแพลตฟอร์ม True ID โดยศาลพิพากษาจำคุกศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ อ่านแถลงการณ์คณะนิเทศศาสตร์ซึ่งระบุว่า คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักดีว่า มิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลที่พิจารณาว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 157 จึงลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ก็มิอาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่อง ปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. เกิดขึ้นได้ องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริโภคสื่อ มิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ตามความในมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
ผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช. ในอนาคต อีกทั้งการ ฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยายามทำให้เกิด ความกดดันและความกลัว
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะฯ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์ กิตติคุณ ตร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป
จากนั้นศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดเห็นผ่านการบันทึกเทปว่า การฟ้องร้องหลาย ๆ คดีผู้นำคดีขึ้นสู่ศาลนอกจากจะหวังผลการแพ้ชนะแล้ว ยังหวังผลข้างเคียงจากการพิจารณา นักกฎหมายไม่ควรตีความเฉพาะตัวบทกฎหมาย แต่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและบริบทเพราะการพิจารณาข้อพิพาทต่างๆ เป็นการแสวงหาความยุติธรรม ดังนั้นต้องไม่ตีความไปในทางที่จะทำให้ตกเป็นเครื่องมือของการแสวงหาประโยชน์ข้างเคียงของการพิจารณาคดี
สำหรับผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “พิรงรอง Effect” ทิศทางกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคสื่อต่อจากนี้ ประกอบด้วยนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจําคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ. -512 – สำนักข่าวไทย