สธ.15 ก.พ.-แพทยสภา ออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนทางการแพทย์ไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง ไม่เห็นด้วยใช้ความรุนแรง แต่เห็นควรวางระบบระบุตัวตนคนทำงานอาสาทางการแพทย์ มีสัญลักษณ์ชัดเจน ใช้กากบาทสีเขียว ต้องรู้การกู้ชีพพื้นฐาน
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 พร้อมด้วย นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงเรื่องความรุนแรงกรณีสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ว่า ทางแพทยสภาได้มีการออกแถลงการณ์ อนุกรรมการบริหารแพทยสภา แสดงจุดยืนดังนี้
1.ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำ ที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณ หรือ สัญจรผ่านพื้นที่ใกล้เคียง
2.ขอให้ทุกให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล
3.ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากล ที่สำคัญ คือไม่เลือกปฏิบัติ ยึดถือความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
และ 4.ขอแสดงความชื่นชมบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละ และมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การออกแถลงการณ์วันนี้ เพื่อให้เกิดการทำระบบแสดงตัวตนในผู้ที่จะมาเป็นกลุ่มอาสาสมัคร ทำงานด้านการแพทย์ โดยมีการกำหนดสัญลักษณ์ที่สวมใส่เพื่อแสดงตัวเป็นอาสาหรือบุคลากรทางแพทย์ และต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เลือกฝ่าย และเป็นการทางวิชาการ พร้อมคุณสมบัติของผู้เปนอาสา ต้องสามารถช่วยเหลือกู้ชีพพื้นฐานได้
นพ.ฉันชาย กล่าวว่า สำหรับสัญลักษณ์ที่กำหนดใช้ในการแสดงตัวว่าเป็นบุคลากรแพทย์ เพื่อทำงานด้านการแพทย์ในที่ชุมชน ต้องเป็นกากบาทสีเขียว สีเขียวเป็นสีประจำของแพทย์ และไม่สามารถใช้สีแดงของกาชาดได้ โดยบุคคลที่เข้าไปปฏิบัติ หน้าน้าที่ ต้องมีความรู้ระดับหนึ่ง และต้องประจำในจุดที่ตนเองปลอดภัย และสามารถช่วยเหลือให้คนอื่นปลอดภัยได้ด้วย
พล.อ.ต.อิทธพร กล่าวว่า สำหรับการขึ้นทะเบียน อาสา หรือบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะมาดูแลผู้ชุมนุม ทางแพทยสภาจะได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข วางระบบลงทะเบียน เบื้องต้นได้มีการพูดคุยทางวาจา ส่วนความกังวลหรือระแวงว่า เมื่อแสดงตนอาจไม่ปลอดภัย ตรงนี้เป็นหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องจัดการ โดยแพทยสภาไม่ขอเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่เมื่ออาสามาทำงานทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติต้องทำงาน ด้วยความเป็นกลาง .-สำนักข่าวไทย