นนทบุรี 28 ก.ค.- ครอบครัวหนึ่งซื้อ “ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นขึ้นชื่อจากห้างชื่อย่านงามวงศ์วาน นนทบุรี มาถึงบ้านช่วงค่ำ เปิดประตูรถ พบกุ้งในกล่องซูชิเรืองแสงสว่างเด่นขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ ด้านนักวิชาการ ชี้น่าจะมาจากการปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรืองแสงได้
ในสังคมออนไลน์มีผู้โพสต์ข้อความบอกว่า ซื้อซูชิแล้วเกิดเรืองแสง ไม่กล้ารับประทาน โดยพูดติดตลกว่า แสงจากกุ้งเรืองแสงสว่างกว่าอนาคตของเขาเสียอีก
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปสอบถามนางอรุณ ยลไพบูลย์ ถึงเรื่องราวดังกล่าว ระบุว่าวันจันทร์ที่ผ่านมา พร้อมกับเพื่อนไปห้างสรรพสินค้าย่านงามวงศ์วาน ก่อนกลับช่วงเย็นขณะห้างใกล้ปิดแล้ว แวะศูนย์อาหารในห้างดังกล่าว ซื้อซูซิที่ครอบครัวชอบมา 3 กล่อง เมื่อมาถึงบ้าน หยิบข้าวที่ซื้อออกจากรถ ก็เห็นว่าอาหารที่อยู่ในกล่องมีแสงเรืองสว่างในส่วนของตัวกุ้ง เรียกคนในบ้านมาดู ทุกคนที่เห็นต่างพากันแปลกใจที่ซูชิกุ้งเรืองแสงได้ จึงตัดสินใจไม่ทานซูชิที่ซื้อมา
อย่างไรก็ตาม ลูกชายนำซูชิหน้ากุ้งเรืองแสงไปต้ม แล้วลองทานไป 1 ชิ้น หลังทานไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติ โดยนายแสงชัย กาญจนวสะ คนชิมกุ้งเรืองแสง บอกว่า หลังจากทาน ไม่ได้มีผลข้างเคียงใดๆ สังเกตว่าข้าวที่ติดอยู่กับกุ้งก็จะมีเรืองแสงด้วย แต่สำหรับนางอรุณผู้เป็นมารดาบอกว่า อยากฝากถึงคนซื้ออาหาร ให้สังเกตดูก่อนซื้อ ส่วนตัวคงไม่กล้าซื้ออีกแล้ว
ด้านนักวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ ระบุแบคทีเรียนี้น่าจะมาจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในทะเลที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ทำให้มีปฏิกิริยาเรืองแสงออกมา แต่มีพิษต่ำ สูญสลายได้ ด้วยความร้อน แต่เอาเข้าจริง เราก็ไม่ควรกิน แต่ถ้ากินแล้วทำให้สุกก่อน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ส่วน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการด้านชีววิทยา แนะอันดับแรกควรจะส่งไม่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปตรวจสอบ โดยอาจเทียบได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2553 มีคนเคยเจอลูกชิ้นปลาเรืองแสง ซึ่งตอนนั้นกองควบคุมอาหาร สำนักงานอาหารและยา เคยอธิบายเอาไว้ว่า สาเหตุเป็นไปได้ 3 อย่าง 1.อาจจะเกิดจากการเจริญของแบคทีเรียในทะเล ซึ่งสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ ติดมากับปลาที่จะกินลูกชิ้น แต่เชื้อพวกนี้จะถูกทำร้ายไปด้วยความร้อนระหว่างการผลิตลูกชิ้น ถ้าพบมากขนาดที่เรืองแสง อาจจะพบบนลูกชิ้นได้ แสดงว่าอาจจะปนเปื้อนหลังจากที่ผ่านความร้อนแล้ว
2.ปลาที่เอามาทำลูกชิ้นอาจจะเกิดการที่แพลงก์ตอนสาหร่าย หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรืองแสงในน้ำได้ และอาจจะมีการเติมสารเคมีบางชนิด มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบด้วย แต่ว่าถ้าประเมินจากซูชิหน้ากุ้งเรืองแสงได้ น่าจะมาจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์เรืองแสงที่กุ้งมากกว่าการใส่สารเคมี.-สำนักข่าวไทย