กรุงเทพฯ 17 ก.ค. – กรมประมงเตรียมตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในสัปดาห์หน้า ตามคำสั่ง “ร.อ.ธรรมนัส” โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมีมติรับซื้อในราคา 15 บาท/กก. ส่วนตัวอย่างปลาจากบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าในปี 2553 ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่า ไม่เคยได้รับมาและไม่พบจัดเก็บไว้ในห้องเก็บตัวอย่าง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เตรียมตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำใน 16 จังหวัด ที่พบการระบาดตามคำสั่งของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับกระทรวงที่มีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมงพื้นบ้าน และประชาชนทั่วไปจับปลาหมอคางดำมาจำหน่ายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยกำหนดราคารับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท/กก. ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีที่จะใช้งบกลางมารับซื้อ แต่ระหว่างที่รองบกลาง ได้หารือกับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ที่จะใช้งบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมารับซื้อเพื่อนำไปทำปุ๋ยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้แก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ส่วนมาตรการอื่นๆ ในกำจัดปลาหมอคางดำจะทำควบคู่กันไป
ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส เน้นย้ำว่า จะไม่รับซื้อปลาหมอคางดำที่มีการลักลอบเพาะเลี้ยงเนื่องจากเป็นสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นที่มีกฎหมายห้ามครอบครอง โดยหมายให้กรมประมงประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า ที่ขณะนี้พบการระบาดใน 16 จังหวัด ซึ่งเป็นการระบาด 14 จังหวัดและพื้นที่กันชน 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด และชลบุรี แต่ละจังหวัดมีคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับจังหวัดเร่งรัดดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระดับกระทรวง โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดจะเพื่อทบทวนในรายละเอียดของแผนการป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำ รวมถึงงบประมาณเพื่อให้เหมาะสมตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่
สำหรับกระแสสังคมที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำ พร้อมกับต้องการให้กรมประมงตรวจพันธุกรรมปลาหมอคางดำที่ระบาดว่า ตรงกับปลาหมอคางดำที่มีการขออนุญาตนำเข้าโดยภาคเอกชนเมื่อปี 2553 หรือไม่นั้น นายบัญชาระบุว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา โดยบริษัทแห่งหนึ่งขออนุญาตขำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ โดยนำเข้ามาผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำสุวรรณภูมิและนำไปวิจัยที่จังหวัดสมุทรสงคราม ขณะนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำที่ผู้นำสัตว์น้ำทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการควบคุมโรคสัตว์น้ำ
ต่อมาบริษัทยกเลิกการทำวิจัยและไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่างตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด ในปี 2560 ที่พบการแพร่ระบาด จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เลี้ยงของบริษัทเจ้าหน้าที่กรมประมงจึงได้รับรายงานว่า ได้ทำลายตัวอย่างทั้งหมดด้วยการฝังกลบ
ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวว่า กรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม 50 ตัวอย่าง ซึ่งนำซากปลาดองใส่ขวดตัวอย่าง ขวดละ 25 ตัวนั้น กรมประมงได้ตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่างและฐานข้อมูลในระบบตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างและขวดตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หากกรมประมงพบหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม จะเร่งดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
ปัจจุบันปลาหมอคางดำเป็น 1 ใน 13 ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงตามประกาศของกรมประมงเพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น ภายใต้มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดโทษไว้ในมาตรา 144 ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ในการขออนุญาตนำเข้าจะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นทางวิชาการจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) เมื่อได้รับอนุญาตนำเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมงจะตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำนั้นจนสู่แหล่งทดลองที่ได้รับการอนุญาต
สำหรับพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ที่ให้ความสำคัญต่อสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ปรับปรุงกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
เมื่อดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดนี้ แล้วปลาหมอคางดำเริ่มลดจำนวนลง กรมประมงจะเร่งการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยการปล่อยชนิดพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยที่พบในระบบนิเวศเดิม จัดทำเขตอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูความหลากหลาย และสร้างเครือข่ายชุมชนในการอนุรักษ์และรักษาระบบนิเวศ รวมถึงเฝ้าระวังแจ้งเหตุเพื่อคืนปลาพื้นเมืองไทยกลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างสมดุลระบบนิเวศ และสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งน้ำของประเทศไทย
ภายในงานแถลงข่าว กรมประมงได้จัดนิทรรศการเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำได้แก่ ขนมจีนน้ำยา คั่วกลิ้ง ปลาแดดเดียวทอด ฉู่ฉี่ ต้มยำ ทอดมัน โดยอธิบดีกรมประมง ระบุว่า สามารถนำไปทำน้ำปลาและปลาร้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า เตรียมประสานกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการรับซื้อเพื่อนำไปทำปลาร้า อย่างไรก็ตาม ภัตตาคารบางแห่งเริ่มนำปลาหมอคางดำไปปรุงอาหาร โดยเนื้อปลาขาวน่ารับประทาน มีก้างกลางเพียงอย่างเดียว ไม่มีก้างแทรกเนื้อ และรสชาติอร่อยกว่าปลานิล. -512 – สำนักข่าวไทย